CM6 2018 (ภาค : การซ้อมและวิเคราะห์สนาม)

Posted by

วิ่งไปเป็นเดือนเพิ่งได้ฤกษ์เขียน….
เมื่อปี 2017 ผมได้ไปร่วมวิ่งในรายการ CM6 ซึ่งในวงการการวิ่งเทรลในเมืองไทยให้ฉายาว่า

“บอสใหญ่แห่งภาคเหนือ”

ด้วยความชันสะสมเกือบ 7000 เมตรกับระยะทาง 130 กิโลเมตร และแน่นอนว่าผม DNF (วิ่งไม่จบ)
สำหรับเรื่องราวในปีที่แล้วอ่านได้ในนี้เลย (คลิก)

ปีที่แล้วผมเลิกวิ่งเอาเสียดื้อๆ ตอนนั้นไม่แน่ใจตัวเองว่าเป็นเพราะเราเหนื่อยเกินไปหรือพ่ายแพ้ต่อใจของตัวเอง แน่นอนว่าปีนี้ผมเข้าใจแล้วว่าในสนามแข่งนี้

“สิ่งที่เราต้องต่อสู้ไม่ใช่ความชันของขุนเขาแต่เป็นความอ่อนแอในใจเราเอง”

ด้วยความที่ ในสนามนี้แทบไม่บีบคั้นเราเรื่องเวลาเลย ทั้งเวลาคัทออฟรวมและเวลาในแต่ละ CP ล้วนออกแบบมาให้เราสามารถไปได้ด้วยความเร็วของตัวเองคุณสามารถค่อยๆเป็นค่อยๆไป อยู่กับตัวเองไปตลอดทั้ง 38 ชั่วโมงเพียงแค่ต้องซ้อมมาอย่างเพียงพอและไม่ยอมล้อเลิกไปกลางทางเท่านั้นเอง….


ปีนี้แทบไม่มีอะไรใหม่ เส้นทางเหมือนปีที่แล้ว โดยหลักๆแบ่งเป็น 6 ส่วนคือ (สำหรับคนที่อยากรู้ว่าเส้นทางเป็นยังไงผมวิเคราะห์ไว้ที่ส่วนนี้ ส่วนตอนต่อไปจะเป็นดราม่าการวิ่งของผมเอง)

  1. เส้นทางจากจุดเริ่มต้น (ศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติ) ไปยัง HQ คือขุนช่างเคี่ยนโรงเรียนศรีเนรูห์ คิดแบบง่ายๆคือ เส้นนี้มีระยะทางทั้งหมด 10 กิโลเมตรและความชันคือ 1000 เมตร เรียกว่าเริ่มต้นมาก็เอาความชันมาบีบหัวใจตัดกำลังไปก่อนเลย แต่ส่วนใหญ่นักวิ่งมักไม่มีปัญหาเท่าไหร่เพราะเพิ่งเริ่มต้นวิ่งกำลังจะเหลือๆพอไปได้อยู่
  2. Loop A1 สำหรับบางคนนี่อาจเป็นเส้นทางที่ง่ายที่สุดแต่สำหรับผมคิดว่าความโหดหินอยู่ที่ Loop A1 เส้นทางนี่เริ่มต้นจาก HQ ไปขึ้นดอยปุย (เส้นนี้สวยค่อยๆไปนะทุกคน) ระยะทางสั้นๆแค่ 2 กิโลเมตรแต่ชัน 400 เมตร แล้วลงจากดอยปุยไปตามทางดูนก หลังจากนี้เป็นทางลงเกือบทั้งหมด อีก 2 กิโลแล้ววิ่งลงต่อไปจนเกือบๆบ้านม้งดอยปุยจะเจอ W1 ระยะทางรวม 7 กิโลเมตร ที่ W1 ไม่มีอาหารหนัก จาก W1 ลงผ่านบ้านม้งดอยปุยไปเข้าเส้นทางทับกับโป่งแยงไปจนถึงผานกกก ตรงนี้ชันราวๆ 500 กว่าๆเมตรแต่ไกลมากถึง 15 กิโลเมตร ที่ผานกกกจะมีอาหารหนักแต่ปีนี้ไม่มีน้ำอัดลม ผิดหวังมากมาย จากผานกกกวิ่งกลับ HQ อีก 20 กิโลเมตรโดยผ่าน W2 ซึ่งมีแต่น้ำอย่างเดียว
    ฉะนั้นเส้นทาง Loop A1 นี้ยาวเป็นระยะทางถึง 42 กิโลเมตรโดยที่มีอาหารเพียงแค่ A1 ที่เดียวแปลว่าทุกคนจะต้องพกอาหารไปเองให้เพียงพอไม่งั้นจะชนกับกำแพงพลังงานและกำแพงความหิว ความยากของ A1 คือความไกลและความขาดแคลน!!
  3. Loop A2 เส้นนี้ความยากของมันคือความชันดิ่งที่แทบไม่มีจุดให้พัก และความรกที่อาจทำให้เราหน้าคว่ำได้ง่ายๆ A2 นี้อธิบายง่ายมากคือ ลง 7 กิโลเมตร ชัน 950 เมตรและ ขึ้น 7 กิโลเมตรชัน 950 เมตร เส้นทางจะแปลกแยกว่าเส้นอื่นคือออกจาก HQ แล้วเลี้ยวซ้ายลงดิ่งไปยังน้ำตกวังบัวบาน บางคนจึงเรียกเส้นนี้ว่าวังบัวบานแล้วข้ามถนนไปยังตรงข้ามครูบาฯ แล้วย้อนกลับมาทางเดิม หากคิดจะ DNF ตรงนี้น่าจะดีที่สุด
  4. Loop A3 เส้นนี้บางคนบอกว่ามันคือไม้ตายของสนามนี้เลย เส้นทางย้อนกลับไปขึ้นดอยปุยรอบที่สองแล้ววิ่งลงมาตามทางดูนกเหมือนเดิมจนถึง W1 เหมือน A1 แต่จาก W1 เราต้องวิ่งลงเขาชันๆ หลัง W1 ลงไปความชัน 1000 เมตรกับระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อไปถึงวัดสวนพริก A3 ตรงนี้ลื่นมาก ลื่นชนิดที่ต้องใช้ความระมัดระวังขั้นสูงสุด และขึ้นกลับทางเดิมความชัน 1000 กลับ W1 แล้ววิ่งต่อผ่านลานกางเต็นท์ดอยปุยกลับ HQ อีก 7 กิโลเมตร รวมวิ่ง 14 กิโลเมตรไปถึง A3 แล้ววิ่งกลับอีก 14 กิโล ชันรวมประมาณ 1500 เมตร เส้นนี้ความยากคือความล้าความลื่นรวมถึงความชันที่ต้องต่อสู้ คนส่วนใหญ่จะง่วงมากจนต้องหลบนอนข้างทาง
  5. Loop A4 เส้นนี้จาก HQ ยาวลงห้วยตึงเฒ่ายาว 12 กิโลเมตรถึง A4 และย้อนกลับทางเดิม ความชันราวๆ 1000 เมตร ทั้งขึ้นและลง เส้นนี้ความยากคือความยาวของเส้นทางที่ยาวถึง 12 กิโลเมตร โดยไม่มีจุดเติมน้ำอาหารเลย 
  6. HQ ลง เส้นชัย นี่คงเป็นเส้นทางเดียวที่ไม่ยากเลยเพราะคงดีใจที่ได้เข้าเส้นชัยแล้วจะได้จบๆเสียที ระยะทาง 10 กิโลเมตรความชันลง 1000 เมตร

จบส่วนของการอธิบายสนามเพียงเท่านี้ที่เหลือคือเรื่องราวที่ผมไปเจอมา ….


แน่นอนว่าเส้นทางยังคงโหดหินเหมือนเคย

การซ้อม

ปีนี้ค่อนข้างเตรียมตัวมาเพิ่มสำหรับ CM6 โดยช่วง 3 – 4 เดือนก่อนหน้าก็เริ่มปรับร่างกายให้ทนทานต่อความเหนื่อยล้าเป็นเวลานานๆ โดยเน้นไปที่ความทนทานต่อความเหนื่อยหรือ Endurance มากกว่ากล้ามเนื้อที่ใช้ขึ้นภูเขา

โดยเน้นการซ้อมถนนเรียบๆเป็นระยะทางยาวๆต่อเนื่องโดยไม่พัก แผนซ้อมที่ใช้คือวิ่งยาวต่อเนื่องหลายๆวันติดกันหรือที่เราเรียกกันว่า ซ้อม back to back ส่วนใหญ่จะซ้อมต่อเนื่องกัน 4 วันโดยไล่เพิ่มระยะทุก 2 วัน เช่นวิ่ง 25 กิโลเมตรติดกัน 2 วันแล้ววิ่ง 30 กิโลเมตรติดต่อไปอีก 2 วัน โดยเงื่อนไขของการซ้อมคือจะต้องไม่มีการพักเลยหรือพักแค่กินน้ำแล้ววิ่งต่อทันที สำหรับการวิ่ง 20 กิโลเมตรจะไม่กินน้ำเลยถ้าเกินกว่านั้นก็กินน้ำตามสมควร และการซ้อมจะวิ่งตอนเช้าโดยยังไม่กินอะไรก่อนวิ่งเพื่อสอนให้ร่างกายเอาไขมันมาใช้เป็นพลังงาน ผลลัพธ์จากการซ้อมประมาณนี้ทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปเกือบๆ 8 กิโลกรัม

สาเหตุที่เลือกการซ้อมถนนมากกว่าการไปซ้อมขึ้นเขาคือ
1. เราไม่สามารถวิ่งขึ้นเขาได้ คือถ้าไปซ้อมขึ้นเขามันจะกลายเป็นการซ้อมเดินขึ้นเขาและต้องพักเป็นระยะๆ แน่นอนผลลัพธ์อาจจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แต่น่าจะได้ผลลัพธ์น้อยกว่าการวิ่งถนนต่อเนื่องโดยไม่หยุดแน่ๆ
2. ปีที่แล้วผมพบว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้ DNF ไปก็เพราะว่าหัวใจมันเหนื่อยเกินไป ส่วนกล้ามเนื้อนั้นถ้าเราพยายามประคองมันไว้ไม่เร็วไป ไม่ช้าไป กล้ามเนื้อมีสิทธิจะฟื้นฟูตัวเองในสนามได้ แต่หัวใจนี่แทบไม่มีทางเลย

สองเหตุผลข้างต้นทำให้ผมเลือกการซ้อมเป็นการฝึก endurance แบบต่อเนื่องด้วยการ tempo ระยะ 20 – 35 กิโลเมตรแทน ซึ่งพบว่ามันใช้ได้ดีมากในสนามนี้จริงๆ

วันก่อนแข่ง

No automatic alt text available.
ปีนี้เลข BIB สวยทำนายว่าจะวิ่งจบสวยๆ แถมได้เสื้อใหม่ของทีม City Trail มาเสริมกำลังใจ

บรรยากาศวันรับ BIB อบอุ่นมากเหมือนเป็นงานชุมนุมชาวยุทธ์ขาอัลตร้าเทรลจริงๆ เจอเพื่อนๆคุ้นหน้าคุ้นตาเดินกันขวักไขว่

ปีนี้สัญญาว่าจะจบให้ได้ !!!

การรับ BIB จะต้องตรวจอุปกรณ์บังคับก่อนจึงได้สายรัดข้อมือมา แถมด้วยต้องปั้มตรายางที่มือที่ชั้นหนึ่ง ซึ่งเอาจริงๆไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องทำอะไรซ้ำซ้อนกันสองรอบ

ปีนี้เสื้อสวยขึ้นแต่ยังคงเต็มไปด้วยโฆษณาเหมือนเดิม และของแถมในถุง goodie bag แทบไม่มีอะไรเลย ให้ฝากของขึ้นไปยัง HQ ได้ 1 ใบขนาดใหญ่พอให้ใส่ศพคนเข้าไปได้ 1 คน !!

ผมฝากของเต็มสตรีมทั้งน้ำอัดลม เกลือแร่ ขนม รองเท้าสำหรับเปลี่ยน 2 คู่ ถุงเท้า 3 คู่ เสื้อ 3 ตัว กางเกง กางเกงใน และผ้าเช็ดตัว ซึ่งพอคนเห็นก็หัวเราะว่าจะเอาอะไรไปเยอะแยะ แต่ในสุดท้ายพบว่าทุกอย่างที่เอาขึ้นไปได้ใช้ทั้งหมดแทบไม่มีอะไรที่ไม่ได้แตะเลย ซึ่งขอบคุณตัวเองสำหรับความกลัวมาก

สรุป

ควรซ้อมยาวต่อเนื่องไปให้มากพอ จะช่วยเรื่องการใช้พลังงานระหว่างทางได้มาก หาจุดบกพร่องของตัวเองแล้วพยายามเน้นซ้อมไปจัดการเรื่องนั้น เว้นแต่คุณเป็นแนวหน้าอันนั้นตามสบายเลย สำหรับแนวหลังอย่างผมผมเลือกบาลานซ์ทั้งกล้ามเนื้อและหัวใจไปด้วยกันประคองไปให้จบก็พอ

ท่องไว้ในใจเสมอว่าอย่ารีบๆ ซ้อมมาเท่าไหร่ไปเท่านั้นอย่าไปตามคนอื่น อย่าไปพะวงว่าคนอื่นจะแซง งานนี้เอาชนะตัวเองได้ก็เก่งแล้ว

ผู้จัดเตรียมความพร้อมเรื่องอาหารและเครื่องดื่มระหว่าง CP ได้ไม่ค่อยจุใจเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำอัดลมและของกิน แนะนำให้เอาไปเองฝากไว้ในดร็อปแบ็คและติดตัวไปจำนวนหนึ่งการเจอความหิวระหว่างทางนั้นแย่กว่าการเหนื่อยหลายเท่านัก

อากาศที่ HQ ตอนกลางคืนค่อนข้างหนาวแนะนำให้เตรียมผ้าขนหนูหนาๆไปเผื่อห่มเผื่อเช็ดเหงื่อเปียกๆจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นมาก

การได้เปลี่ยนชุดระหว่าง 30 ชั่วโมงทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นได้เหมือนกัน ผมใช้ทิชชู่เปียกเช็ดตัวและเปลี่ยนชุดดีขึ้นจริงๆ แม้แต่การได้เปลี่ยนถุงเท้าและรองเท้าที่ HQ ก็ทำให้เปลี่ยนชุดกล้ามเนื้อที่ใช้ลดอาการบาดเจ็บซ้ำๆได้

ในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวระหว่างทางที่เจอตลอด 30 ชั่วโมง

 

2 ความเห็น

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s