Did Not Finish (DNF) คือสถานะอย่างหนึ่งของนักวิ่งที่ลงแข่งขันในรายการวิ่งแลัว วิ่งไม่จบ
Did Not Finish (DNF) ไม่ใช่สิ่งแปลก! นักวิ่งที่ลงสนามมาพอสมควรอาจจะได้พบเจอกับสถานะอันทรงเกียรตินี้ซักครั้งหนึ่งในชีวิต
Did Not Finish (DNF) นั้นมีได้หลายสาเหตุ บาดเจ็บ, ป่วย, เหนื่อยเกินไป, ใจไม่สู้
Did Not Finish (DNF) สามารถเป็นได้ทั้งบาดแผล, ตราบาป หรือบทเรียนให้กับนักวิ่ง
มีคนเคยกล่าวไว้ว่า นักรบย่อมมีบาดแผลนักวิ่งก็อาจจะมีซักครั้งที่ DNF ได้เช่นกัน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการ DNF ของผม ผมเคย DNF มาแล้ว 3 ครั้ง!
ครั้งแรกกับงาน TNF100 ที่ยังไม่ได้เตรียมใจกับความร้อนและคราวนั้นรู้สึกว่าจิตใจของตัวเองอ่อนแอเกินกว่าที่จะออกจาก CP ไปเจอความร้อนแบบนั้นได้อีก
ครั้งที่สองก็งานเดิมคือ TNF100 แต่คราวนี้ปัญหาเป็นเรื่องอาหารการกินที่เลือกกินอาหารที่ย่อยยากทำให้ระบบย่อยอาหารรวนไม่สามารถกินต่อได้เมื่อกินไม่ได้ก็วิ่งไม่ได้เช่นกัน
ครั้งที่สามงาน SeaToSummit ทับสะแก อันนี้ DNF เพราะอยากประท้วงคนจัดที่จัดงานที่ห่วยเกินกว่าที่จะเรียกว่างานวิ่ง ถ้าวิ่งไปเรื่อยๆก็จบแน่นอนแต่รู้สึกว่าสนามนี้ไม่คู่ควรกับเรา เลย DNF ออกมาด่าคนจัดแทน (ความแค้นล้วนๆ ฮ่าๆ) (ภายหลังมีการออกมาชี้แจงแต่ก็ยังเป็นงานที่ห่วยที่สุดในโลกอยู่ดี)
สองครั้งที่ DNF เพราะความสามารถไม่ถึงนั้นมีความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งคือความเศร้าใจ, เจ็บใจ
“ทำไมเราถึงไม่เข้มแข็งพอ?” เป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวตลอดเวลาและติดตัวไปอีกหลายวัน
ครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการ DNF ครั้งที่ 4 ของชีวิตที่มีความรู้สึกแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา
มันไม่ใช่ความเจ็บใจหรือเศร้าใจแต่มันเป็นความ “เข้าใจ”

“10 กิโลเมตรแรกชัน 1000 เมตร”
เป็นนิยามง่ายๆที่ท่องเอาไว้ตอนออกตัว ซึ่งมันหมายความว่าคุณต้องขึ้นสู้กับความชันระดับการขึ้นดอยปุยตั้งแต่กิโลเมตรแรก!
เวลาตี 5 บรรยากาศสบายๆไม่มีพิธีรีตองมากมาย นักวิ่งทุกคนสวมไฟฉายคาดหัวเปิดไฟแล้วออกตัวไปแบบช้าๆจากศูนย์การแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่
2 กิโลเมตรแรกยังคงเป็นการพูดคุยทักทายกันไปเรื่อยๆเหมือนเป็นชุมนุมนักวิ่งที่มีแต่พี่น้องที่คุ้นหน้าคุ้นตา
…ความชันของภูเขาค่อยๆนำเราจากความสูง 360เมตรจากระดับทะเลผ่านความหนาวเย็นของป่าเชียงใหม่และในขณะเดียวกันก็กัดกร่อนความเข้มแข็งของเราไปทีละหน่อยเหมือนกัน
ช่วงแรกส่วนใหญ่ในทาง single track นั่นหมายความว่าเราจะไม่เหนื่อยมากเพราะแค่ตามคนข้างหน้าไปเรื่อยๆถ้าโอกาสเหมาะก็ค่อยแซงไป แน่นอนระหว่างการต่อสู้กับภูเขาราวชั่วโมงนึงเริ่มมีคนหยุดพักทำให้สามารถแซงขึ้นไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ โดยที่ผมเองก็จินตนาการไม่ออกว่าความชันนี้จะไปสิ้นสุดที่ไหน
“HQ คือบ้าน ไม่ว่าจะไปที่ไหนปลายทางคือกลับมาที่ HQ เสมอ”
ราวๆชั่วโมงครึ่งก็กระเสือกกระสนเข้า HQ มาได้ สภาพร่างกายและจิตใจสดชื่นมากเหมือนเพิ่งเริ่มวิ่ง สดชื่นจนกระทั่งลืมแผนทั้งหมดที่เตรียมมา เพราะตามแผนผมจะเข้าไปพักที่ HQ กินอาหารให้เพียงพอ เก็บของช้าๆและค่อยๆเดินออกมา
ในความเป็นจริงผมใช้เวลาใน HQ ไม่ถึงนาทีกินน้ำเติมน้ำและออกตาม “พี่กว้าง” ไปทันที
พี่กว้างเป็นนักวิ่งแนวหน้า(ทั้งความเร็วและอายุ) ด้วยวัยเท่านี้ไม่น่าเชื่อว่าพี่กว้างยังคงสามารถวิ่งด้วยความเร็วแบบที่วัยรุ่นยังอายทั้งถนนและขึ้นเขา ผมตามไปประกบเพื่อพูดคุยกับพี่กว้างโดยหวังให้อย่างน้อยก็น่าจะทำลายความเหงาไปได้…..
และก็ไม่ผิดหวังจริงๆ คุยไปวิ่งไปเราใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็มาถึงยอดสูงสุดดอยปุย ตอนนั้นพี่กว้างหนีไปก่อนราวๆ 1 นาทีแล้ว นั่งชมวิว chat line สูดอากาศบริสุทธิถ่ายรูปแล้วจึงไปต่อ

หลังจากลงจากยอดดอยปุย มหกรรมการวิ่งลงต่อเนื่องก็เริ่มขึ้น เส้นทางเป็นถนนไล่ลงมาจากดอยปุยวิ่งยาวเข้าหมู่บ้านม้งดอยปุยไปตามถนนชาวบ้านราว 20 กิโลเมตรก็จะถึง A1
“ความหิวคือศัตรูอันดับนึงของการวิ่งระยะไกล”
ความยากของ loop A คือระยะทางจาก HQ ไปที่ A1 และกลับมาที่ HQ นั้นเป็นระยะทางถึง 40 กว่ากิโลเมตรในทางเทรลระยะเท่านี้ถือว่าไกลมาก ต้องเตรียมตัวให้ดี ซึ่งก็ได้แต่นึกโทษตัวเองในใจว่าทำไมไม่เตรียมของกินจาก HQ มาให้เพียงพอ เรื่องน้ำเนื่องจากอากาศไม่ร้อนเท่าไหร่ก็บริหารไปได้แต่เรื่องหิวนี่มันทำใจไม่ได้จริงๆ
…. 5ชั่วโมง 40 นาที ในที่สุดก็ถึงบ้านผานกกก ซึ่งเป็น check point สำคัญที่เซอร์ไพร์มาก เพราะที่นี่บริบูรณ์ด้วยโค้กและข้าวเหนียวหมูย่างที่ชุ่มฉ่ำอร่อยมากก รอบนี้ไม่พลาดแล้วใช้เวลาอยู่ใน A1 ราว 15 นาทีจึงไปต่อ ช่วงนี้เริ่มสวนกับนักวิ่งหลายๆคนที่สวนขึ้นมาคลายความเหงาไปได้ส่วนหนึ่ง แต่เนื่องจากกินเยอะไปเลยวิ่งไม่ค่อยได้เท่าไหร่ส่วนใหญ่เดินๆวิ่งๆ

ประมาณ 3 กิโลเมตรก่อนถึง HQ ฝนก็กระหน่ำลงมา! ช่วงนี้เลยมีพี่นักวิ่งผู้หญิงท่านหนึ่งวิ่งเดินเกาะกันไปเรื่อยๆ
9 ชั่วโมงครึ่งผ่านไป กับความชันสะสมประมาณ 2000 เมตรในที่สุดก็มาถึงเส้นชัย
“กองเชียร์ล้นหลามที่ HQ แต่เฮ้ยขอกูพักก่อน!!!!”
หน่วยซัพพอร์ตทุกคนทุ่มเทมากช่วยกันเทน้ำ ตักข้าว ถือของ ฯลฯ ซึ่งในนัยยะนึงรู้สึกเหมือนโดนกดดันให้รีบๆออกไป ฮ่าๆๆๆ ความตั้งใจแรกว่าจะนอนซักงีบกลายเป็นได้นั่งพักแค่ 15 นาทีแล้วไปต่อ…. แต่ไม่ซีเรียสมากเพราะทางลงไป A2 คือขาลง นี่คือความคิดในตอนนั้น
ในความเป็นจริง…. ด้วยฝนที่กระหน่ำลงมาดินเป็นโคลนและเสื้อกันฝนห่วยๆที่ยาวถึงขา ทำให้การลงไปยัง A2 ในช่วงแรกๆทุลักทุเลมาก ความเร็วที่ตั้งใจไว้ทำไม่ได้อย่างที่คิด ซวยแล้ว!!! ระหว่างนั้นก็เริ่มมีนักวิ่งแนวหน้าสวนกลับขึ้นมา ทุกคนล้วนหน้าตาอิ่มเอิบไปด้วยความอิดโรย
“เฮ้ย!! นี่มันไม่ใช่อย่างที่คิดแล้ว !!”
ระยะทางลง 7 กิโลเมตรที่ชันๆนั้นเราต้องขึ้นมาทางเดิมนี่หว่า!
ผ่านไป 1ชั่วโมงครึ่งในที่สุดก็มาถึง A2 จนได้แต่ Highlight ของเส้นทางนี้อยู่ที่ทางขึ้นต่างหาก
หลังจากเข้า A2 ผมพยายามมองหาน้ำอัดลมแต่ก็ไม่มี เลยจำใจต้องออกจาก A2 แทบจะทันทีเพื่อเดินข้ามถนนกลับไปซื้อน้ำอัดลมที่ร้านค้า เดินกินแบบชิวๆก่อนที่จะกลับไปเจอทางขึ้นอันแสนโหดร้ายนั้น
ปกติผมจะมั่นใจในทางขึ้นมากๆ เพราะส่วนตัวเดินป่าบ่อย แต่คราวนี้ทางขึ้นมันบีบหัวใจจริงๆ เรียกว่าไม่มีที่ให้พักเลยระยะทาง 7 กิโลเมตรใช้เวลาไปถึง 2ชั่วโมง 20 นาที ในระหว่างนั้นก็ตระหนักขึ้นมาได้ว่า
“นี่เป็นสนามที่เราไม่คู่ควรให้จบ เราควรกลับไปซ้อมให้มากกว่านี้”
ไม่ได้เป็นความรู้สึกเสียใจหรือท้อแท้เลย แต่เป็นความเข้าใจว่านี่เป็นสนามที่ต้องอดทนและฝึกซ้อมและเราไม่สามารถจบได้ในปีนี้ หรือถ้าจบก็ต้องลากร่างไร้วิญญาณกลับแน่ๆ
ราวๆ 6 โมงครึ่งก็กลับสู่ HQ ได้สำเร็จ ฝนเริ่มกระหน่ำลงมาอีกครั้ง ที่ HQ ไม่เหลือน้ำอัดลมอีกแล้วมีเพียงข้าวผัดแห้งๆกินไปได้ซักพักก็ตัดสินใจหนีไปนอนก่อน ระหว่างที่นอนรู้สึกถึงเสียงหัวใจที่เต้นอยู่แต่ความรู้สึกสงบอย่างประหลาดในใจคิดไว้แล้วว่าจะ DNF
ราวๆทุ่มครึ่งก็แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะเลิกวิ่งแล้ว รอรถจนราว 2 ทุ่ม
นั่งกระบะฝ่าหมอกลมฝนลงมาถึงเส้นชัยโดยสวัสดิภาพ จบแล้วสนามนี้แต่แน่นอนว่าปีหน้าถ้าผู้จัดยังคงจัดอยู่จะกลับมาแก้มืออีกอย่างแน่นอน
ที่เหลือทิ้งไว้ก็เพียงความทรงจำอีกด้านหรือของภูเขาที่สลับซับซ้อนในเมืองเชียงใหม่ และความรู้สึกที่ประกอบรวมเป็นตัวเราที่เติบโตขึ้นจากบทเรียนที่ภูเขามอบให้ ….
2019 พี่ได้มาไหมครับ เล่าให้ฟังหน่อย
ถูกใจถูกใจ