สังเกตมานาน
ว่าในสังคมไทยมีความเชื่อ 2 ชุดที่ขัดแย้งกันเอง
แต่ก็ปลูกร่างฝังโครงกันมาจนเป็นส่วนหนึ่งของการเป็น “วัฒนธรรมไทย”
ความเชื่อแรก คือความเชื่อเรื่องบุญกรรม ไปถึงเรื่องภพชาติ
ความเชื่อชุดนี้ เชื่อว่าการกระทำของเรานั้นมีการถูกกำหนดมาไว้ก่อนด้วยพลังที่เหนือธรรมชาติ
เช่นคนนี้เกิดมาพิการเพราะชาติที่แล้วทำกรรมเอาไว้
เช่นบางคนประสบอุบัติเหตุก็ถือว่าเพราะเจ้ากรรมนายเวรตามหา
รากของความคิดนี้
น่าจะมาจาก พราห์ม+ผีที่มีประโยชน์ในการป้องปราม (deterrence)
ไม่ให้คนกล้าทำไม่ดี และยังช่วยให้เราปลงได้ในเวลาที่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นกับชีวิต
แต่ปัญหาของความเชื่อชุดนี้คือ
มันเป็นการผลักภาระของทุกอย่างให้ไปอยู่กับ ชาติหน้า ชาติที่แล้ว
และไปสนับสนุนให้เรายอมรับต่อโชคชะตาที่มี
เช่นผลักภาระการลงโทษคนโกงในสังคมให้ชาติหน้า
เช่นผลักภาระของความประมาทของบางคนให้ชาติที่แล้ว
————————————————————–
ความเชื่อชุดที่สองคือความเชื่อว่า
เมื่อเราทำสิ่งใดเราจะได้รับผลลัพธ์นั้นเสมอ
และเชื่อว่าบุคคลที่สำเร็จได้นั้นมาจากการกระทำของตนเป็นส่วนใหญ่
ดังที่ปรากฏในคำเก๋ ๆ ที่เราใช้กันดาดดื่นในสังคมไทย
เช่น “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว”
ความเชื่อนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิขงจื้อ
ที่สืบทอดผ่านคนไทยเชื้อสายจีนที่ยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในไทย
ซึ่งปัจจุบันอาจจะบอกได้ว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ในเมืองใหญ่ ๆ
ความเชื่อชุดแรกเน้นไปที่พลังเหนือธรรมชาติ
ที่สามารถบงการชีวิตเราได้
ส่วนชุดที่สองเน้นไปที่การลงมือทำแล้วจึงประสบความสำเร็จ
แล้วมันเป็นปัญหาตรงไหน ?
เนื่องจากสองความเชื่อที่เป็นแกนหลักของประเพณีของเราขัดแย้งกัน
มันเลยเกิดการ “เลือกใช้เมื่อได้ประโยชน์” เกิดขึ้น
คือหากเราประสบความสำเร็จ
เราก็เลือกเอาความเชื่อชุดที่สองมาใช้ว่าเราประสบความสำเร็จด้วยความพยายามของเราเอง
แต่ถ้าหากมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ แต่ไม่อยากแก้เพราะยาก
เช่นมีคนคดโกงแต่ดันร่ำรวยประสบความสำเร็จ มีความสุข
เราก็เลือกเอาความเชื่อชุดแรกมาใช้ ว่าเดี๋ยวเวรกรรมคงตามทัน
จะเห็นได้ว่าเราเลือกชุดความเชื่อที่เราได้ประโยชน์มาใช้เท่านั้น
โดยไม่ได้คำนึงถึงการขัดกันของแนวความคิดเลย
ผลลัพธ์คือ
เราพยายามเลือกชุดความคิดมาทำให้ตัวเราง่าย
เราไม่อยากแบกความรู้สึกผิด
รับเอาแต่ความชอบ เราไม่อยากแก้ปัญหายาก ๆ ก็โยนให้เจ้ากรรมนายเวรจัดการ
ลงท้ายเราเลยมีวัฒนธรรมที่หา วาทศิลป์สวย ๆ มาแปะเพื่อสนับสนุนสิ่งที่เราทำ
โดยไม่ได้ลงไปยอมรับความจริง
เข้าใจความผิดพลาด
หรือแม้กระทั่งลงมือแก้ปัญหาที่ควรแก้
โดยเอาสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมอันดีงาม” มาคร่อมมันไว้
เมื่อไหร่ที่เรายอมรับได้ และเลิกอ้าง “ราก” ของเรา
เราจึงสามารถก้าวข้ามความเป็นตัวเราสู่ตัวเราที่ดีกว่าได้
เมื่อรากมันอ่อนแอ การขุดรากทิ้งเพื่อปลูกใหม่ อาจจะไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย
เท่ากับการรอให้มันเติบโตภายใต้รากเน่า ๆแล้วรอวันที่ต้นไม้ใหญ่จะล้มทับบ้านของเราเอง
ก็เป็นไปได้นะ