หัวเรื่องดูเรียกทัวร์เหลือเกิน แต่ใจเย็น ๆ ลองอ่านก่อน
ย้อนกลับไปเมื่อ ราว ๆ 18 – 19 ปีก่อน สมัยยังเพิ่งเข้าปี 1
ตอนนั้นมีกลุ่มเพื่อนอยู่ 4 – 5 คน แล้วก็ทำกิจกรรม เล่นเกมส์อะไรกันไปเรื่อยตามประสาเด็ก
มีวันหนึ่งบังเอิญมีข่าว ซึ่งผมจำเนื้อข่าวเป๊ะ ๆ ไม่ได้แล้ว แต่เนื้อหาประมาณว่า …
“ขอทานเอาไฟเช็กเผาไข่เด็กเนื่องจากเด็กไปขโมยเงินขอทาน”
อะไรประมาณนี้
โดยเพื่อนตั้งประเด็นขึ้นมาว่า “ไปเผาไข่เด็กทำไมวะ? แค่ด่ามันก็พอหรือแจ้งตำรวจก็พอ”
ในส่วนผมเองมองว่า “เอ้าก็คนมันไม่เหลืออะไรแล้วอ่ะ แจ้งตำรวจไปก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้”
เราเถียงประเด็นนี้กันอยู่ประมาณ 10 นาที ในที่สุดเพื่อนก็พูดขึ้นมาว่า “กูก็กลับไปขอตังแม่”
ตอนนั้นเองที่เปิดโลกเด็กจน ๆ อย่างเราว่า การขอตังแม่มันทำได้ด้วยเหรอวะ?
คือผมเกิดมาในครอบครัวที่จน แม้จะหลอกตัวเองว่าเป็นคนชั้นกลางแค่ไหน แต่จริง ๆ ก็คือจนนั่นแหละ
การขอเงินคือต้องจำเป็นจริง ๆ จำเป็นแบบจะเป็นจะตายอ่ะ ไม่งั้นก็ไม่มีทางได้หรอก
เรื่องนี้เป็นบทสนทนาที่ติดค้างอยู่ในหัวผมอยู่ 18 -1 9 ปี
ทำให้เห็นว่าการมองโลกของคนจนกับคนรวยนั้นต่างกันจริง ๆ
สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำชัดขึ้นเมื่อผมเติบโตขึ้นและเข้าใกล้ชนชั้น คนรวย มากขึ้น
ตั้งแต่เรื่องของโอกาส การยอมรับความเสี่ยง ความเป็นความตายในการตัดสินใจ ทุกอย่างต่างกันอย่างสิ้นเชิง
คนรวยสามารถซื้อของฝากเพื่อนบ้านได้ แต่ถ้าคุณไม่มีแม้แต่จะกินมื้อน้นเรื่องนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้
คนรวยสามารถตื่นมาใส่บาตรได้ทุกวันในขณะที่คนจนคิดแค่ว่าจะเอาเงินไปลงทุนต่อในวันพรุ่งนี้ยังไงดี
เมื่อเกิดความซวยในชีวิตคนรวยแค่จ่ายให้กับความซวยนั้น
คนจนอาจจบทุกอย่าง ทั้งธุรกิจที่สร้างมา ลูกที่กำลังเรียน บ้านที่อาศัยอยู่
คนรวยสามารถขอกู้เงินได้มากกว่าทรัพยสินที่ตัวเองมี ในขณะที่คนจนต้องจ่ายดอกเบี้ยะ 10% ต่อเดือน
จะเห็นได้ว่าต้นทุนที่เป็น “ทุน” จริง ๆ และ ทุนที่เป็น “โอกาส” ของคนสองกลุ่มนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ไม่แปลกเลยที่คนรวยจะมองโลกแบบหนึ่งในแบบที่เขาอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง
อยากให้ทุกอย่างสงบเรียบร้อย กลมเกลียว คงสังคมแบบเดิมไว้ (conservative)
เพราะเขาอยู่ในสภาวะปลอดภัย
ไม่ได้หมายความว่าเข้าเป็นคนเลวหรือคิดซับซ้อนว่าเขาได้ประโยชน์ตรงนี้อยู่แล้วนะ
ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มีแนวโน้มอยากช่วยคนอื่นมากกว่าคนจนด้วยซ้ำ หรือถ้าบรรทัดฐานสังคมคงบอกได้ว่าเขาเป็น “คนดี” เพราะนั่นเป็นสิ่งเติมเต็มเขาเช่นกัน เพราะทรัพยากรของเขามีเพียงพอแล้ว ที่เหลือคงต้องมองหาอย่างอื่นตามทฤษฏีของ mashlow

ส่วนคนจนมีแนวโน้มที่จะพยายามมองหาความเปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะเขากำลังเสียเปรียบ
จะเห็นได้ว่าการประท้วงมักมาจากกลุ่มคนจนมากกว่าคนรวย
คนจนอยากจะช่วยเหลือคนอื่นนั่นแหละ แต่เพียงเขายังก้าวผ่าน safety need ใน mashlow ไม่ได้เลย
แล้วถ้าเขามองไปในอนาคต เขาจะเห็นแต่ความมืดมนว่างเปล่า หวังได้เพียงโชคชะตาว่าจะเข้าข้างตนบ้าง
เขาเลยซื้อหวยมากกว่าจะเอาไปช่วยคนอื่น เขาเลยมีโอกาสไปช่วยคนอื่นได้น้อยกว่า
เขาเลยถูกมองว่าเป็นปัญหาของสังคม (ในสายตาคนรวย และคนกำลังจะรวย)
“พวกนี้ทำตัวมีปัญหา วัน ๆ เอาแต่ขี้เกียจ โง่ กินเหล้า”
นี่เป็นวลีที่คนรวยมองไปยังคนจน ซึ่งในมุมมองของคนรวยก็อาจจะจริง
แต่ถ้ามองเข้าไปถึงสภาพแวดล้อมและการเป็นอยู่ และโอกาส ของเราคงต้องมองไปอีกแบบ
สองทางนี้ไม่มีวันบรรจบกัน
และสองเผ่านี้จะต้องประทะกันในสักวัน !
เพราะมุมมองทั้งชีวิตของพวกเขาไม่เหมือนกัน และไม่มีวันเหมือนกัน
คนรวยไม่มีวันเข้าใจคนจน คนจนเองก็ไม่มีวันเข้าใจคนรวย เพราะแว่นที่เขาสวมใส่นั้นต่างกันสิ้นเชิง
มันเลยจำเป็นที่จะต้องมีคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยตรงนี้
ส่วนใหญ่แล้วมันคือภาครัฐ ที่จะต้องรีดเร้นคนรวย เอามาเกื้อกูลคนจน (ใช้คำนี้เลย)
แต่รัฐต้องเชื่อก่อนว่าคนจนนั้นไม่ได้จนเพราะขี้เกียจ หรือโง่
(ถ้าคุณไปดูคนทำงานค่าแรงขั้นต่ำ คุณจะไม่คิดว่าเขาขี้เกียจเลย)
แต่ความจนเกิดจากการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ดีของรัฐ
ในโลกทุนนิยมคนรวยย่อมรวยมากมาย แต่ในขณะเดียวกันคนจนต้องอยู่ได้และมีความหวังได้
จะเห็นได้ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจนสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองและมีเงินเก็บได้อย่างมีความหวัง
หวังได้ว่าถ้าเขาขยันกว่านี้ เขาจะมีทุกอย่างที่เขาหวังได้
ไม่เช่นนั้นแล้วทั้งสองเผ่าพันธ์นี้จะเข้าห้ำหั่นกันในสักวัน
และไม่ว่าใครจะชนะมันล้วนน่าเศร้าใจทั้งนั้น