
ประมาณเช้าวันที่ 9 เดือนกันยายน จู่ๆ ก็มีข่าวแพร่มาเต็มฟีดไปหมด เป็นเรื่องราวที่โรงพยาบาลสระบุรีโดน Ransomeware โจมตีทำให้ไม่สามารถให้บริการได้
สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Ransomeware
มันคือไวรัสประเภทหนึ่งที่การทำงานของมันจะทำการเข้ารหัสไฟล์ในเครื่องทั้งหมด
ทำให้เราไม่สามารถใช้ข้อมูลอะไรในคอมได้เลย จนกว่าจะจ่ายค่าไถ่ให้กับคนร้าย
ทำให้ไวรัสประเภทนี้เราเรียกมันเป็นภาษาไทยว่าเป็น “ไวรัสเรียกค่าไถ่”
ซ้ำร้ายส่วนใหญ่ไวรัสพวกนี้สามารถแพร่กระจายตัวในระบบเครือข่ายภายในได้เองด้วย
ทำให้ โดนเครื่องเดียวล่มทั้งองค์กร
จะว่าไปไวรัสเรียกค่าไถ่พวกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้ในปีเดียวกันนี้ก็มีเหยื่อดัง ๆ หลายราย
ไล่ไปตั้งแต่บริษัทระดับโลก อย่าง Garmin
PEA (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค), ไทยเบฟ และอื่นๆ จำกันไม่ไหว
แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในเมืองไทยที่มีข่าวการโจมตีระบบสาธารณสุข
ในอเมริกาเครือข่ายระบบสาธารณสุขเป็นเป้าหมายของไวรัสเรียกค่าไถ่พวกนี้มาอย่างยาวนาน
ถ้าจำไม่ผิดผมเล่าข่าวเรื่องแบบนี้ครั้งแรกในปี 2015 – 2016
เท่าที่อ่านจากในข่าว คาดว่าเป็นการโจมตีแบบไม่ได้เล็งเป้าไปที่โรงพยาบาลสระบุรี
แต่น่าจะเป็นการสแกนไปเรื่อย ๆ เจอช่องให้เข้าถึงได้เมื่อไหร่ก็โจมตี
คือปกติการโจมตีไซเบอร์จะมี 2 รูปแบบหลักคือ
1. Target แบบนี้คือมีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากโจมตีองค์กรอะไรสักแห่ง แล้วลงมือเอาให้ได้
2. Structure แบบนี้คือมีวิธีการโจมตีชัดเจนแต่โจมตีใครก็ได้ที่มีช่องโหว่สบกับการโจมตีนี้
เคสนี้น่าจะเป็นอย่างหลัง
ที่คิดแบบนี้เพราะว่าเจ้าไวรัสโลภมากตัวนี้ดันเรียกค่าไถ่ถึง 200,000 BTC (สองแสนบิตคอยน์)
ซึ่งถ้าคิดเป็นราคา ณ วันที่ผมเขียนอยู่นี้ที่ 320,583.97 บาท ต่อ 1 บิตคอยน์
จะเท่ากับโรงพยาบาลจะต้องจ่ายค่าไถ่เป็นเงิน 64,116,794,000 (หกหมื่นสี่พันล้านบาท)

ซึ่งเป็นราคาที่องค์กรใหญ่ๆ ยังไม่จ่ายเลย
ไม่ต้องคิดถึงโรงพยาบาลรัฐในไทยที่เงินบุคลากรทางการแพทย์ยังตกเบิกรัว ๆ
แปลว่าผู้โจมตีไม่ได้คิดว่าจะได้เงินแต่แรก
ซึ่งก็แปลว่าผู้โจมตีไม่ได้ลงแรงมากมายเช่นกัน
ดังนั้นเคสนี้หมดหวังจะได้ข้อมูลคืนเลย
แต่…ทั้งหมดข้างบนไม่ใช่เรื่องที่อยากเล่า!
สิ่งที่อยากเล่า และ เดาคือเรื่องที่จะเกิดหลังจากนี้ ….
คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่โรงพยาบาลสระบุรีหลังจากนี้?
ส่วนใหญ่หน่วยงานที่เจอเหตุการณ์ทำนองนี้ก็จะลงทุนในเรื่องความปลอดภัยเพิ่ม
เช่นการซื้อไฟล์วอล์ ซื้อแอนตี้ไวรัสใหม่ อัพเกรดระบบเครือข่าย บลา ๆ
แต่สุดท้ายมักจบลงที่การซื้อ
ปัญหาใหญ่คือ เงินอาจช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้
แต่ไม่มากเท่าเงินที่ลงไป !!!!
ใช่ การลงทุนด้านความปลอดภัยในองค์กรเป็นสิ่งที่ควรทำ
แต่ควรทำเมื่อรากฐานแข็งแรงแล้ว
เพราะถ้าลงทุนไปกับการซื้อของ มักเหลือเงินไม่พอสำหรับการออกแบบพื้นฐานที่ดี
จะว่าไปนี่เป็นปัญหาเดียวกับปัญหาระดับชาติ ปัญหาการศึกษา ปัญหาสังคมเลยทีเดียว
นั่นคือพื้นฐานไม่แข็งแรง
และเมื่อพื้นฐานไม่แข็งแรงก็ไม่มีวันสร้างตึกสูงได้
ดังนั้นในความเห็นผม สิ่งที่ทุกองค์กรควรทำเพื่อให้เกิดความปลอดภัยคือ…
การออกแบบความปลอดภัยที่ดี โดยเริ่มจาก
การประเมินความเสี่ยงที่ดี
การสร้างนโยบายที่ดี
การกระตุ้นให้คนทำตามนโยบายและกฏโดยเคร่งครัด
การออกแบบกฏที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อคนใช้งาน
ไม่ใช่สักแต่ลอกฝรั่งมาแล้วสุยๆ ไปดื้อๆ โดยไม่อ่านอะไรเลย
การเลือกวิธีจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
เลือกสนใจในสิ่งที่ควรสนใจ และไม่สนใจในสิ่งที่ไม่จำเป็น
พูดง่ายแต่ทำยาก !
ซึ่งจะว่าไปอาจใช้เงินน้อยกว่าการซื้อของแล้วต้องเปลี่ยน ต้องดูแลมันทุก ๆ ปี
แต่จะว่าไปองค์กรในไทย (เท่าที่เห็น) ให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้น้อยมาก
เพราะว่ามันเหนื่อย ใช้เงินน้อยแต่เหนื่อย
เหนื่อยตั้งแต่ผู้บริหาร เหนื่อยแผนกไอที เหนื่อยในระดับผู้จัดการ เหนื่อยฝ่ายบุคคล
เรียกว่าเหนื่อยกันถ้วนหน้า
ตัดปัญหาเอาเงินฟาดเลยดีกว่า (ซึ่ง Vendor ชอบบบบบบบบบ)
ผมเองเป็นพวกตระหนี่ถี่เหนียว
เวลาเห็นอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยราคาแพงที่เปิดกินไฟ แต่ไม่ได้ทำงานคุ้มค่าตัวมัน
ก็จะหงุดหงิดทุกครั้ง…. แม้จะไม่ใช่เงินเราก็เถอะ
ผมชอบประโยคหนึ่งที่ได้ยินมาจากไหนไม่รู้
ถ้าคุณไม่ยอมทำสิ่งที่ควรทำในวันที่ไม่จำเป็นต้องทำ คุณจะต้องทำสิ่งที่ไม่ควรทำเพราะถูกบังคับให้ทำ
ใครก็ไม่รู้
สุดท้ายเผื่อใครอยากฟังเวอร์ชันเสียง
