วันก่อนเข้าไปร่วมแจมวงสนทนาในกิจกรรมของ TedXBangkok
มีคนเปิดประเด็นเรื่องของการตั้งคำถาม ขึ้นมา
ผู้เข้าร่วมวงเปิดประเด็นเรื่องว่าตัวเองเคยทำงานข่าว แล้วถูกสอนมาให้ตั้งคำถาม ทำไม ทำไม ทำไม?
แน่นอนว่าการตั้งคำถามนั้นเป็นเรื่องยาก
เพราะจากชีวิตการเป็นวิทยากรมาหลายปี
น้อยคนมากที่จะสามารถตั้งคำถามได้ ส่วนใหญ่เงียบหาย
(แน่นอนว่าอาจจะเป็นเพราะผมไม่ใช่วิทยากรที่ดีเท่าไหร่)
แต่จากวงนั้นผมคิดต่อไปว่า
แม้การตั้งคำถามนั้นจะเป็นเรื่องยาก
แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการถูกตั้งคำถาม
จากประสบการณ์ (อีกแล้ว) มีหลายคน
โดยเฉพาะคนที่สวมหมวกบางอย่างที่ดูยิ่งใหญ่
หมวกของครู ผู้รู้ หัวหน้างาน ผู้ใหญ่ ผู้บริหาร
ที่มองว่าการตั้งคำถามคือการท้าทายอำนาจของหมวกใบนั้น
แล้วก็พาลไม่พอใจ
ทั้ง ๆ ที่จุดประสงค์ของผู้ถาม อาจจะแค่อยากรู้จริง ๆ เท่านั้นเอง
ตอนนี้ก็เช่นกัน เราเห็นเด็กทั้งหลายออกมาตั้งคำถาม
ถามถึงความเท่าเทียมในสังคม
ถามถึงการตรวจสอบ
ถามถึงอนาคตของพวกเขา
เราในฐานะที่เป็นคนที่เบิกทางมาก่อน
ในฐานะที่เป็นคนที่เชื่อว่าเรามีข้อมูลมากกว่าเขา
ทำไมเราไม่ทำหน้าที่เป็นผู้ตอบคำถามละ?
ทำไมเราผลักไสเขาไปเป็นผู้ก้าวร้าว?
ทำไมเราไม่ส่งข้อมูลให้เขา ?
แล้วถ้าเราตอบไม่ได้ เราก็ควรจะเป็นคนตั้งคำถามต่อ
ทำไม ทำไม ทำไม ถามไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเจอต้นตอ
โดยที่ยังไม่ด่วนสรุปด้วย ตัวกรองที่เรียกว่า “อคติ”
หรือที่สุดแล้วเราก็ยังไม่รู้คำตอบ
เราก็อาจจะต้องมีหน้าที่ถามไปยังคนที่อาจรู้คำตอบ
มิใช่แบ่งแยก หรือเมินเฉย
เราอาจไม่ได้ถูกหล่อหลอมมาในสังคมที่เปิดโอกาสให้ตั้งคำถามมากนัก
เราก็เลยไม่ชินกับการถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน
แต่มันก็น่าจะยังไม่สายที่เราจะเริ่มตั้งคำถาม โดยไม่ต้องรีบสรุป
และเตรียมใจกับการถูกตั้งคำถาม โดยที่ไม่ด่วนเหมารวมไปว่า เขากำลังท้าทายเราอยู่ เช่นกัน