ช่วงเวลาที่กำลังเขียนบทความนี้ขึ้นมา เป็นช่วงเวลาที่ทั่วทั้งโลกได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
ด้วยโรคระบาดที่ชื่อว่า โควิด-19
แน่นอนว่าเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนต้องจดจำแน่นอน
ในช่วงที่ยากลำบากนี้ ก็จะมีทั้งคนที่ยากลำบากน้อย
และยากลำบากมาก
เราได้เห็นการเกื้อกูลกันสารพัดวิธี ทั้งบริจาคเงิน บริจาคอาหาร ของใช้จำเป็นต่างๆ
และแน่นอนไอเดียน่าสนใจอันหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบคือ “ตู้ปันสุข”
จะว่าไปคอนเสปต์ของ “ตู้ปันสุข” นี่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่มันไม่ได้แพคมาเป็นตู้สวยงามเหมือนที่บ้านเราทำเท่านั้นเอง ในช่วงการระบาดแรกๆ ที่มาเลเซีย
ชาวบ้านเอา ข้าวสาร อาหารแห้ง มาวางไว้ริมถนน ใครเดือดร้อนก็มาเอาไป … ง่ายๆ แบบนั้น
กลับมามองที่เมืองไทย จากไอเดียของตู้กับข้าวใครอยากบริจาคอะไรก็ใส่เข้าไป
แต่มันก็มีดราม่าจนได้ !….
หลังจากไอเดียนี้เริ่มไปได้ซักพัก ก็เริ่มมีคนมาบ่นมาว่าคนเอาของในตู้ไปหลายชุด บางคนเอาสามล้อมาเอา
บางคนเอาไปหมดทั้งตู้… ใช่ทั้งตู้จริงๆ คือยกตู้เอาไปเลย !!!
ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าทำไมคนพวกนี้ไม่คิดถึงคนอื่นเลย
และก็มีการเอากล้องวงจรปิดมาถ่าย ถ่ายรูป เอามาประจานลงในสังคมออนไลน์
จนมีเสียงก่นด่าออกมามากมาย ….
ผมมีปัญหากับตัวเองอยู่หนึ่งอย่าง คือผมจะมีปัญหากับคำว่า “ทำความดี” “ทำบุญ” “ได้บุญ” มาก
เวลามีใครมาบอกว่าดีแล้วได้ทำบุญ ผมแทบจะวางมือจากสิ่งนั้นทิ้งไปทันที
แล้วก็เวลาบริจาคของผมก็เกลียดการถ่ายรูปกับคนรับบริจาคมาก
ไม่ว่าจะถูกคะยั้นคะยอแค่ไหน ผมก็มักหนีห่างไปอยู่ไกลๆ
เหตุผลเพราะ ทั้งหมดที่มนุษย์ทำ เราทำเพื่อตัวเอง …
ในแนวคิดด้านจิตวิทยาสังคมหลายแนว จะมีความต้องการอันหนึ่งที่มนุษย์อยากจะสนองตัวเอง
นั่นคือ “ความต้องการในการช่วยเหลือคนอื่น”
ซึ่งถ้ามองจริงๆ แล้วมันเป็นความต้องการของตัวเราเอง
ทีนี้มันก็มีบางคนที่อยากจะเคลมความต้องการของตัวเองนั้น ให้กลายเป็น “การทำความดี”
แน่นอนมันเกิดขึ้นเพราะความต้องการ การยอมรับจากสังคม ซึ่งก็เป็นความต้องการอีกอันหนึ่งเช่นกัน
ซึ่งเอาเข้าจริง มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอีกนั่นแหละ
เพียงแต่ผมมีความคิดว่ามันเป็นแค่การทำสิ่งที่เราอยากทำเท่านั้นเอง !
“ตู้ (ปั่น) สุข” เลยกลายเป็นตัวอย่างของการ หว่านพืชหวังผล
คือคิดว่าทำความดีแล้วคนที่รับจะต้องตอบแทนความดีนั้น….
ด้วยการเป็นคนดี ด้วยการแบ่งปันคนอื่น ด้วยการกตัญญูกตเวที …
เลยแทนที่จะได้ ความสุข กลับกลายเป็นโดนตู้เส็งเคร็งปั่นหัว
ให้รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ยุติธรรมเลย ทำไมคนอื่นๆเป็นคนแย่ไปเสียหมด ต้องจ้องจับผิด ต้องตามหาขโมย
ต้องเอาเรื่องราวมาประจานในโลกออนไลน์ ให้คนก่นด่าคนที่เอาของไป
ทั้งๆ ที่ทุกคนก็น่าจะรู้ว่า โลกนี้ไม่มีความเท่าเทียมกัน และเราก็ควบคุมคนอื่นไม่ได้
แทนที่จะคาดหวังว่าโลกนี้มันจะตอบสนองอย่างที่เราอยากได้ แล้วก็ทุกข์ใจว่า
“ทำไมหนอเราเป็นคนดีขนาดนี้ คนอื่นถึงไม่ดีเหมือนเราบ้าง”
เราน่าจะเปลี่ยนความคาดหวังนั้นไปเป็น “ความเข้าอกเข้าใจ”
ว่าแต่ละคนนั้นต่างกัน อาจมีคนที่เดือนร้อนมากมายจริงๆ
อาจมีคนที่ขาดโอกาส
อาจมีคนที่ระแวงไม่ไว้ใจโลก
เขาเหล่านั้นถูกพลักดันให้ทำสิ่งที่พวกเขาทำ
และถ้าเราอยู่ในจุดเดียวกับเขา เราก็จะทำเหมือนเขานั่นแหละ
ปัญหาที่แท้จริงจึงไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่เป็นเรื่องทางโครงสร้าง
โครงสร้างที่เราควบคุมไม่ได้
โครงสร้างที่เหมือนอากาศรอบตัว ที่เราสูดเข้าไปแต่มองมันไม่เห็น
สิ่งที่เราทำได้คือตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม?
เพื่อให้เราสุขใจใช่ไหม? เพื่อตอบสนองความต้องการลึกๆของตัวเองหรือเปล่า?
ถ้าใช่ ก็จงอย่าให้ ตู้ที่เราอุปโลกไปเองว่ามันจะมอบความสุขให้คนอื่น
มาปั่นให้เราซึ่งควรเป็นคนแรกที่ควรได้รับความสุขจากตู้นี้ สูญเสียมันไปเลย …
ปล. ผมชอบแนวคิดหนึ่งที่อ่านมา คือถ้ามันพร่องก็เติมให้เต็ม เติมไปเรื่อยๆ เติมไปจนกว่าจะไม่มีใครเอา
แม้มันจะเป็นความคิดแบบสุดโต่งไปเลย แต่เป็นแนวคิดที่ถูกต้องที่สุด เรียบง่ายที่สุด และเป็นจริงได้น้อยที่สุดด้วย แต่ว่ามันก็ท้าทายดีใช่ไหมละ?