EP 112 : Inthanon by UTMB 100 mile ที่ไปไม่ถึง

Posted by
แบบ podcast ฟังที่นี่

โควิด

ต้องบอกว่าคำนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตใครต่อหลายคน ทั้งในเชิงการใช้ชีวิต กิจกรรม การงาน การเงิน
โควิดทำให้เราต้องอยู่กับบ้าน ไปไหนมาไหน ได้ไม่สะดวกนัก อย่างน้อย ๆ ก็ 2 ปี
แล้วเมื่อคนที่เคยเดินทางไปไหนมาไหน โดนขังอยู่กับบ้าน มันก็กัดกร่อนจิตวิญญาณของเราไปเรื่อย ๆ
ความภาคภูมิใจในตัวเองค่อย ๆ ลดลง ๆ
ความแข็งแรงค่อย ๆ ลดลง ๆ

ประมาณ มีนาคม ปี 2022 ด้วยความรู้สึกเศร้าสร้อยไร้เป้าหมาย
จู่ ๆ ก็ไปเห็นว่ามีงานวิ่ง อัลตร้ามาราธอนงานใหญ่ระดับประเทศงานหนึ่งเปิดรับสมัครอยู่

Inthanon by UTMB

คร่าว ๆ สำหรับคนที่ไม่รู้จักอัลตร้าเทรล
อัลตร้าเทรลคือการวิ่งในภูเขา หรือป่าเขา ระยะไกล
ไกลที่ว่านี้อาจจะตั้งแต่ 50 กิโล 100 กิโล ไปจน 170 กิโลเมตร หรือ 100 ไมล์
นอกจากความไกลที่ทำร้ายนักวิ่งแล้ว อีกอย่างที่มีหน้าที่นวดนักวิ่งคือ ความชัน
ความชันอาจไล่ไปตั้งแต่ 3000 เมตร ไปจน 10000 เมตร

เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ตอนเราเดินขึ้นภูกระดึงจากที่ทำการอุทยานไปจนหลังแป
นั่นคือความชันประมาณ 900 เมตร !
ฉะนั้น 10000 เมตรก็คือ ขึ้นลงภูกระดึงประมาณ 11 ครั้งติดต่อกัน !!!

ในโลกของการวิ่งอัลตร้าเทรลนี้มันจะมีงานใหญ่
ที่เปรียบเสมือนเมกะของงานวิ่งเทรลคือสนามที่ชื่อว่า UTMB (Ultra trail Mont Blanc)
ที่จัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศษ ซึ่งต่อมาก็มีงานประเภทเดียวกันนี้
จัดขึ้นตามที่ต่าง ๆ ที่เป็น signature ในโลก
อย่างงานใหญ่ที่เป็นอันดับสองอย่าง UTMF หรือ Ultra trail Mount Fuji เป็นต้น

งาน Inthanon นี้ก็เช่นกันเป็นงานที่สืบสายเลือดมาจาก UTMB
คือมีคณะกรรมการของ UTMB มาตรวจและพิจารณาสนามและการจัดการให้ได้มาตรฐาน
และที่แน่ ๆ ต้องยากลากเลือดฉบับ UTMB

นั่นเป็นคร่าว ๆ เกี่ยวกับอัลตร้าเทรล

และแน่นอนว่าชายหนุ่มผู้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ที่หึกเหิมอยากแก้ไขมันให้ได้
เมื่อเห็นงานแบบนี้ก็มีแค่ทางออกเดียว
คือสมัครแม่งในระยะ 100 ไมล์ !

ส่วนตัวพอมีประสบการณ์การวิ่งเทรล 100 – 140 กิโลเมตรมาแล้วบ้าง
คือรู้ตัวว่าจะต้องซ้อม ซ้อม และ ซ้อมแทบลากเลือดแน่ ๆ ก็บรรจงเขียนแผนซ้อมขึ้นมาทันที

ตัวอย่างแผนซ้อม
ตัวอย่างแผนซ้อม 100 ไมล์

ภาพข้างบนคือแผนจริง ๆ ที่ทำขึ้นมา แต่จะเห็นได้ว่ามีอุปสรรคมากมายในแผนนั้น

  1. ปรับตัวไม่ทัน
    เนื่องจากร่างกายยังไม่ได้เข้าใกล้โหมดแข่งขันแม้แต่น้อย ก็เริ่มในขั้นนี้จริง ๆ จะต้องใช้เวลาหลายเดือน
    แต่ถ้าเป็นแบบนั้นคือซ้อมไม่ทันแน่ ๆ เลยจำเป็นต้อง shotcut ตัวเองเข้าสู่ stage เตรียมแข่งเลย
  2. ปรับใจไม่ทัน
    ช่วงที่เริ่มกลับมาซ้อมได้ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ประเทศเริ่มเปิด คือใจนึงก็อยากไปเที่ยวต่างประเทศ อยากไปเดินป่า อยากเที่ยว แต่ถ้าทำแบบนั้นจะกระทบต่อการซ้อมของตัวเองแน่ ๆ และอาจจะทำให้ไม่จบ
    ถึงแม้พยายามจะไม่ไปออกทริปเดินป่าอะไรเลยแล้ว แต่ก็ยังไม่วายที่มีบางทริปที่อยากไปมาก ๆ ก็ไปจนได้ ทำให้แผนซ้อมหลุดไปอยู่ อย่างน้อย 3 สัปดาห์
  3. โควิด (จริง ๆ)
    หลังจากกลับมาจากอินโดก็ติดโควิด ตอนติดโดวิดคือร่างกายย่ำแย่มาก เจ็บคอ ไอ ทรมานสุด ๆ หายไป ประมาณ 2 อาทิตย์จึงเริ่มกลับมาซ้อมได้ ซึ่ง 2 อาทิตย์นี้ต่อเนื่องมาจากตอนที่ไปเที่ยวอินโดเสียด้วย ทำให้จู่ ๆ แผนซ้อมก็ล่มไป เดือนกว่า ๆ
  4. งานยุ่ง
    พอหายไปหลายวันงานที่สุมไว้ก็พอกพูนเติบโต ทำให้ต้องทำงานดึก ๆ เช้า ๆ เพื่อจะส่งงานให้ทัน ผลที่ได้คือกลายเป็นว่าหลุดแผนซ้อมไปเป็นระยะ ๆ ประกอบกับช่วงซ้อมกลาง ๆ จะมีช่วงซ้อมยาวที่ต้องใช้เวลา 5 – 6 ชั่วโมงในการซ้อมพอติดงานพวกนี้เลยต้องทิ้งไปหมดเลย
  5. ถอนฟัน
    จู่ ๆ ก็ปวดฟัน ปวดแบบเป็นปัญหากับการใช้ชีวิต จนวิ่งไม่ได้เพราะเจ็บ จนต้องไปหาหมอฟัน สุดท้ายลงเอยที่การต้องผ่าฟันทิ้งไป 2 ซี่ กระบวนการนี้ทำให้ต้องหยุดซ้อมไปอีกน้อย ๆ คือ 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังมีขี้เกียจ สังสรรค์ จิปาถะอีกมากมายระหว่างทางจากแผนซ้อม 32 สัปดาห์ กลายเป็นว่าได้ซ้อมจริงประมาณครึ่งนึงของทั้งหมด

แม้ช่วงท้าย ๆ จะพยายามกลับมาซ้อมให้ได้ตามแผนแต่เริ่มมีบางอย่างที่แปลกไป

หัวใจเต้นแรง

ราว ๆ 2 เดือนก่อนแข่งหลังจากผ่าฟันคุดมา เริ่มสังเกตุตัวเองว่า หัวใจตัวเองเต้นแรงตลอดเวลา
ตอนที่นั่งทำงานที่โต๊ะเฉย ๆ หัวใจก็โดดไป 80 – 90 ครั้งต่อนาที
ตอนวิ่งไม่ต้องพูดถึง 150 – 170 ครั้งต่อนาทีกลายเป็นเรื่องปกติไปเลย
แต่ก็ยังปลอบใจตัวเองว่าไม่เป็นไร ในสนามแข่งเราคงไปช้า ๆ เรื่อย ๆ ได้

นอนไม่ค่อยหลับ

อันนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ด้วยความเครียดจากงาน
ความเครียดจากการซ้อม ความเครียดในชีวิตอื่น ๆ มันรุมเร้า
จากคนที่หลับง่ายหลับสบาย กลายเป็นคนที่ตื่นมากลางดึก
คุณภาพการนอนแย่ลงอย่างมาก จากปกติที่เป็นคนนอนง่ายนอนสบาย กลายเป็นมีปัญหาเรื่องนี้ไปเสียได้

ตัดภาพมาก่อนวันแข่ง

อากาศสบายกำลังดีระหว่าง 14 – 20 องศาสบาย ๆ งาน expo จัดที่ที่ทำการอุทยานดอยอินททน์เลย
แสงสีเสียงเต็มพิกัด งาน expo คนเดินเยอะแยะขนาดเป็นแค่วันที่ปล่อยตัวเฉพาะ 100 ไมล์เท่านั้น
ข้อเสียในงานที่เจอคือ งง
ไม่มีป้ายบอกทาง ไม่รู้จะต้องไปทางไหน คือเดินมั่ว ๆ มึน ๆ ไปเรื่อย ๆ สุดท้ายจึงเจอที่รับ BIB
ขั้นตอนการรับก็ไม่ต่างจาก UTMF ที่ผมเคยไปมากนัก มีการตรวจอุปกรณ์บังคับ แม้ว่าการตรวจจะดูไม่จริงจังเท่า UTMF แต่ก็มีขั้นตอนเท่าที่จำเป็น การรับ BIB ทำได้รวดเร็ว แค่ไม่กี่นาที เสื้อและ BIB ก็มาอยู่ในมือแล้ว

อีกอย่างที่น่าจะเป็นปัญหาของงานคือการจราจร
ปกติเส้นขึ้นดอยอินทนนท์เป็นเป็นถนนแคบ ๆ อยู่แล้ว พอเจอกับจำนวนนักวิ่ง สตาฟ คนจัดงาน นักข่าว และนักท่องเที่ยวที่มากันช่วงวันหยุดยาวอีก กลายเป็นความมีความเป็นอัมพาทเกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ และงานกินพื้นที่มากเกินไปนิดนึงทำให้ไม่เหลือพื้นที่ทำอะไรได้อีกเลย

ทำเก๋าตั้งแต่วันรับ BIB

วันแข่ง

ขณะยืนอยู่หน้าเส้นปล่อยตัว หัวใจเต้นประมาณ 100 – 110 ครั้งต่อนาที
คืนก่อนหน้านอนไม่ค่อยหลับ และรู้สึกเหมือนมึน ๆ ตลอดเวลา

ปล่อยตัวออกไปได้แค่ 2 กิโลเมตร ก็เข้าสู่ทางเทรล ช่วงแรกก็ชันไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้แย่มาก นักวิ่งยังเกาะกลุ่มกันไปเป็นก้อน ๆ

พอเริ่มสังเกตุคนรอบข้างก็พบว่ามีชาวต่างชาติมากันเยอะมาก เรียกว่าอาจจะ 30% ของนักวิ่งที่เห็นเป็นคนต่างชาติ ครองตำแหน่งผู้นำโดยญี่ปุ่น ตามมาด้วยเกาหลี และมาเลเซีย

แค่ประมาณ 5 กิโลเมตรเส้นทางก็นำเรามาขึ้นผาตั้ง และนี่เป็นจุดแรกที่รถติด

ผู้คนเดินต่อแถวก้าวไปได้ทีละก้าวเพื่อขึ้นผาตั้ง

บนยอดมีช่างภาพรอถ่ายภาพอยู่ ผมเองไม่ได้สนใจอะไรมากนักก็งุด ๆ ผ่านไปไว ๆ แต่ได้ข่าวว่าบางคนโพสท่าถ่ายรูป ทำให้ตรงนี้ยิ่งช้าเข้าไปใหญ่ เหมือนว่า 50 กิโลกับ 100 กิโลจะโหดกว่านี้เพราะปริมาณคนเยอะกว่าหลายเท่าตัว

ช่วง 10 กิโลแรกยังรู้สึกสบาย ๆ หัวใจเต้นแรงตามปกติ แต่ยังไหวอยู่ เส้นทางขึ้นลงสลับไปเรื่อย ๆ 15 กิโลชัน 800 ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมง 10 นาที ซึ่งถือว่าไม่ช้าไม่เร็ว ยังพอมี buffer อยู่ จนกระทั่งถึง A1

A1 คือจุดให้น้ำที่ 1 มีน้ำ อาหารเบา ๆ ผมเติมน้ำ คว้าถั่วจำนวนหนึ่งกับยูโรคัสตาสแล้วก็เดินออกมาเลย โดยหวังว่าช่วงหลัง ๆ จะมีเวลาพักมากขึ้น

หลังจากออกจาก A1 มาก็เดิน ๆ วิ่ง ๆ เนื่องจากเส้นทางค่อนข้างไม่ยากมาก ไม่ชันมาก และคนยังเกาะกลุ่มกันแบบแน่น ๆ คือมีคนต่อหลังและมีคนอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา ระยะทาง 9 กิโลเมตรผ่านไปไม่นาน ก็ถึง A2

A2 เป็นหน่วยจัดการต้นน้ำแม่อวม ตรงนี้เป็นที่ที่ผมเคยใช้เป็นจุดเริ่มเดินไปเขาหัวช้าง ยังคงคุ้นเคยดี แต่พอมีเต้นท์ของงานบรรยากาศก็เปลี่ยนไปเยอะ มีเพลงมาเล่นมีการสแดงเล็ก ๆ แต่ตอนนี้เริ่มไม่ค่อยสนใจแล้ว ตรงนี้เป็นจุดแรกที่อาการเริ่มไม่ค่อยดี คือเริ่มกินไม่ค่อยอร่อยและเริ่มนั่งพัก ระหว่างที่นั่งพักอยู่นั้นก็ได้ยินเสียงประกาศว่า ตอนนี้มีเวลาอีกแค่ 40 นาทีที่จะถึง cut off จะว่าไป 40 นาทีก็ถือว่าไม่น้อย
แต่ในชีวิตการวิ่งไม่เคยมี Cut off อยู่ใกล้ขนาดนี้มาก่อน เริ่มใจคอไม่ค่อยดี
สำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิ่ง cut off คือเวลาที่ทางงานแข่งกำหนดว่าถ้าคุณมาไม่ถึงตรงที่กำหนดในเวลาที่กำหนดจะต้องหยุดการวิ่งนะ พูดง่าย ๆ เหมือนวิ่งช้าไปจนถ้าไปต่อก็ไม่ทันหรอก อะไรประมาณนี้

ออกจาก A2 ก็เจอทางวิบากเลย เป็นทางที่ต้องลงเขายาว ๆ ชัน ๆ ลื่น ๆ ค่อนข้างอันตราย และช่วงนี้ก็มีหลายจุดที่มีไม้โง่ ๆ พาดทางที่จะใช้ข้ามหน้าผา ทำให้ต้องมีรถติดอยู่หลายครั้ง แม้ว่าในใจผมจะขอบคุณรถติดอยู่ในใจ แต่พอมาคิด ๆ ดูทางงานแข่งสามารถทำให้มันแข็งแรงปลอดภัยมากกว่านี้ได้เยอะเลย แต่เหมือนจงใจไม่ทำ ได้ข่าวว่าในระยะอื่นมีฝรั่งลื่นไม้ทิ่มตาและมีคนล้ม โดนเกี่ยว อะไรเยอะแยะ

A2 ไป A3 คือนรกขุมแรก นอกจากทางที่อันตรายเป็นระยะ ๆ แล้ว ช่วงประมาณบ่าย 2 – บ่าย 4 ยังเป็นช่วงที่ร้อนมาก และไม่มีร่มไม้อะไรเลย พูดง่าย ๆ คืองานปิ้งย่างดี ๆ นี่เอง ถ้าการปิ้งย่างนี้เกิดขึ้นบนทางราบก็อาจจะแค่ร้อน ไม่อะไรเท่าไหร่ แต่สำหรับงานนี้งานปิ้งย่างเกิดขึ้นตอนกำลังปีนขึ้นเขาชัน ๆ ระยะทางระหว่างกิโลที่ 32 – 33 ผมใช้เวลาไป 29 นาที เรียกได้ว่ามานั่งพัก ยืนพัก และไล่จิบน้ำเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา จนสุดท้ายไปเจอกับแอ่งน้ำเล็ก ๆ ที่ผมวักน้ำจุ่มหัวลงไปเพื่อลดความร้อน ค่อยอาการดีขึ้นมาหน่อย

นี่เป็นครั้งแรกที่เริ่มคิดว่ามันอาจจะไม่จบ เพราะหัวใจมันเต้นและมันรู้สึกอ่อนแอเหมือนกำลังจะตาย ปกติในงานแข่งที่ผ่านมาผมไม่เคยเหนื่อยในระดับนี้มาก่อน ส่วนใหญ่จะล้าที่ขา กล้ามเนื้อกระตุก หรือเจ็บหลังเข่ามากกว่ามันไม่ใช่อาการแบบนี้ อาการที่เกิดกับอวัยวะที่เราก็อาจจะไม่รู้จักมันดีพอ “หัวใจ”

พยายามฝืนใจถ่ายรูปอะไรเก็บไว้บ้าง

กิโลที่ 37 / A3 / หน่วยพิทักษ์แม่แจ่ม

ที่นี่มีอาหาร เราได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มลงเขามา จริง ๆ ไม่ได้รู้สึกหิวมากนัก อาจจะเพราะกินอะไรไปเรื่อย ๆ ระหว่างทางและความเหนื่อยที่มันกัดกินเราจนลืมไปว่าหิวก็เป็นไปได้ ตอนแรกอยากกินมาม่ามาก แต่น้ำร้อนไม่ทันทำให้ต้องเลือกกินผัดหมี่เจกับไข่เจียวแทน กินไปได้ถ้วยเดียวก็รีบออกต่อ มาถึงที่นี้ผมใช้ไป 6ชั่วโมง 50 นาที แล้ว เวลาที่ใช้ในการกิน เติมน้ำ เติมอาหาร อีกราว ๆ 10 นาที นั่นแปลว่าผมเหลืออีกแค่ 20 นาที ก็ถึงเวลา cut off แล้ว

ตัดสินใจไปต่อ เพราะอย่างน้อยก็อยากขึ้นพระธาตุ แต่หารู้ไม่ว่าหลังจากนี้คือนรกดี ๆนี่เอง

แม้อากาศจะเริ่มเย็นลง ซึ่งอากาศแบบนี้ผมควรจะมีความสุข และหัวใจไม่ได้บอกผมแบบนั้น เส้นทางราว 2 กิโลเมตรยังสบาย ๆ เป็นถนน สลับทางไม่ชัน แต่พอมาถึงกิโลเมตรที่ 39 แถว ๆ โบสถ์เล็ก ๆ สักแห่ง เส้นทางพาเราขึ้นไปบนภูเขา ตรงนี้ผมเริ่มควักเอา trekking pole ออกมาใช้แล้ว เพราะจากตรงนี้ที่ความสูงราว ๆ 1000 เมตรจากระดับทะเล เราต้องไปที่พระธาตุที่อยู่ที่ความสูงเกือบ ๆ 2200 เมตรจากระดับทะเล

8 กิโล 1300 เมตร ถือว่าเป็นสัดส่วนระยะทางต่อความชันที่ไม่ธรรมดาเลย
ผมค่อย ๆ ก้าว ต่อ ก้าว ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่กิโลที่ 40 เป็นต้นไป เรียกได้ว่าผมคลาน ไปได้ทีละนิด ๆ หลาย ครั้งต้องหยุดแล้วมองหาที่นั่ง ท่ามกลางความมืดและหนาวเหน็บในป่า ยิ่งเดินขึ้นสูงไปมากเท่าไหร่ อากาศก็เริ่มเย็นลง แต่จะว่าไปนั่นเป็นข้อดีที่ทำให้ร่างกายไม่ร้อนจนเกินไป

แถวที่ 2 คือเวลาที่ใช้ในแต่ละกิโลเมตร มีตั้งแต่ 15 นาที ไปจน 28:54 นาทีช้าประมาณคนแก่เดิน

มีช่วงหนึ่งที่เดินอยู่บนสันเขาที่กำลังไต่ขึ้นพระธาตุ
ผมถึงกับนั่งลง มองกลับไปที่เมืองจอมทองอยู่นาน ดูดวงดาวและคิดว่า

“หรือเราจะนั่งอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนหมดเวลาดี”

แต่คิดว่าอาจจะหนาวตายก่อน เลยลุกขึ้นแล้วค่อย ๆ เดินต่อ
ตรงนี้ผมเดิน ๆ หยุด ๆ นั่งพักอยู่หลายรอบ
เส้นทางพาเราไปจนกระทั่งพระธาตุอยู่ใกล้แค่เอื้อมนี่เอง

หลอน ๆ หน่อย มือสั่น ๆ

แต่กลายเป็นว่าเส้นทางผลักเราลงไปยังแม่น้ำอีกรอบ แล้วค่อยงัดกลับขึ้นมา ถึงแม้ว่าจริง ๆ มันจะแค่ 70- 80 เมตร เท่านั้น แต่มันค่อนข้างเละเทะ และเราไม่มีวันรู้เลยว่าเมื่อไหร่มันจะถึง เหมือนมันยาวนานไปเรื่อย ๆ ไม่จบเสียที

ในที่สุดก็ถึงพระธาตุ ที่พระธาตุมีช่างภาพรออยู่เต็มไปหมด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นหรือคึกคักขึ้นมาเลย เพราะในตอนนี้เรารู้แล้วว่าเราอ่อนแอเกินไปที่จะจบเรซนี้ และเวลา cut off ก็ไล่เข้ามาใกล้จนเกินไป

อุโมงมิติตอนลงมาจากพระธาตุเข้า A4

ผมถึง A4 ตอน 20:40 ถ้าไปต่อยังยอดอินทนนท์ คือระยะทางอีก 5.2 กิโล ความชัน 460 เมตร
ผมมีเวลาแค่ 1 ชั่วโมง 40 นาที ก่อน cut off
คิดว่าถ้าไปถึงคงฉิวเฉียด และคงไม่มีเวลาพัก และเวลาก็บีบลงเรื่อย ๆ ….

เราอ่อนแอเกินไป

ผมเป็นคนเผื่อความผิดพลาดไว้เสมอ ปกติผมไม่เคยลงเล่นเกมส์เดิมพัน 50/50
เกมส์ที่ผมลงเล่นจะต้องอย่างน้อย 60/40 หรือ 70/30 เท่านั้น นี่ถือว่าโอกาสไม่จบน่าจะมากกว่าจบแล้ว
ถ้าไปต่อก็แค่ต้องเหนื่อยเพิ่ม

เลยขอจบการแข่งขันไว้ที่ A4 เท่านั้น

วิ่งไปได้ 47 กิโลเมตร ใช้เวลาไป 10:45 นาที

บทเรียน

  1. เราอ่อนแอเกินไป เกินกว่าจะวิ่งระยะทางไกล ๆ แบบนี้ ความอ่อนแอที่ว่าไม่ใช่เรื่องของร่างกาย อย่างเดียวยังเป็นเรื่องของหัวใจที่เราเป็นคนไม่สบายใจกับการโดนไล่หลัง และไม่สบายใจกับความเครียด จริง ๆ จะว่าไปนี่ก็สะท้อนชีวิตของเราเป็นอย่างดี เราอาจทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ แต่พอมันกดดันมาก เครียดมาก แม้ว่าจะเราปากแข็งบอกไม่เครียดยังไงก็ตาม ความเครียดก็เป็นของที่สลัดไม่หลุดเสียที
  2. ลงทุนเยอะเกินไป ไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่ต้องจ่ายเยอะ แต่มีเรื่องเวลาที่ลงไป ความเสียสละแทนที่จะไปมีความสุขต้องเสียไปกับการต้องซ้อม การสูญเสียโอกาสเยอะแยะแทนที่จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ แต่ต้องมาจมกับการซ้อม และถ้ามีรอบหน้าที่อยากจะจบ ก็คงต้องลงทุนมากกว่านี้ พยายามมากกว่านี้ เราว่ามันเยอะเกินไป
  3. สุขภาพอาจมีปัญหา ถ้าไม่ได้ผลักตัวเองไปอยู่ extreme แบบนี้เราอาจจะไม่มีวันรู้สึกเลยก็ได้ว่าร่างกายตัวเองเปลี่ยนไป หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพบางอย่าง ถ้ายังนั่งโต๊ะทำงาน วิ่ง 5 – 10 โลคงไม่มีวันเจอมันได้
  4. ความแค้นมีพลังมากกว่าอย่างอื่น ทุกสนามที่จบ ๆ มา ส่วนใหญ่จะมาด้วยความแค้น คือเราโกรธหรือเคียดแค้นอะไรบางอย่างแล้วเอามันไส่ลงไปในสนาม สนามนี้มาแบบขาว ๆ ด้านสว่าง หาคุณค่า พิสูจน์ตัวเอง เลยไม่จบ จริง ๆ ทุกสนามที่เป็นแบบนี้ก็ไม่จบเหมือนกัน
  5. ยังสรุปไม่ได้ จนถึงตอนนี้ก็ยังเหมือนมีปมหรืออะไรบางอย่างที่ยังไม่สามารถตอบได้ว่ามันคืออะไร แต่มันเป็นความรู้สึกที่สับสนข้างใน ไว้คิดออกจริง ๆ จะเอามา update แล้วกัน

แล้วเจอกันใหม่กับการเดินทางครั้งหน้า

สวัสดี

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s