บันทึกถกเถียง : คอร์สอบรมนักแปลวิทยาศาสตร์ by Galapagos

Posted by

ทำไมถึงเรียกว่าบันทึกถกเถียง?

คือปกติถ้าบันทึกจากความทรงจำ หรือคอร์สเรียน ก็จะต้องเป็นการบันทึกตามเนื้อหา หรือสิ่งที่จำได้
แต่ปัญหาของเราคือ เรามีความต่อสู้ถกเถียงอยู่ตลอดเวลาของคลาส …

บันทึกอันนี้จึงกลายเป็น “บันทึกถกเถียง”

เรื่องราวมันเริ่มต้น ง่าย ๆ คือเราไปลงเรียน คอร์อบรมนักแปลวิทยาศาสตร์เอาไว้
เรียนทำไม?
จริง ๆ ส่วนที่ตัดสินใจลงเรียนเพราะกลุ่มผู้สอนมากกว่าเนื้อหาด้วยซ้ำ
เราไม่ใช่นักแปล แม้จะแปลบทความ แปล TED Talk มาบ้าง แต่ยังไงก็ไม่ใช่นักแปล
และก็ไม่เคยคิดว่าการแปลจะกลายเป็นอาชีพด้วยซ้ำ
แต่ด้วยการที่ แทนไท, พี่ชิ้นนำชัย (ผู้แปล Sapiens), พี่เอ้วชัชพล และหนุ่มโตมร
4 หนุ่มบอยแบน ที่รวมตัวกับเปิดสำนัก? (พิมพ์) ที่ชื่อว่า Galapagos เป็นคนลงมาสอนเอง

เอาวะต่อให้ไม่ได้ความรู้ที่เอาไปใช้ได้ได้ความบันเทิงก็ยังดี

การแปลนั้นผู้แปลต้องเคารพต้นฉบับอย่างมาก ถ้าเป็นไปได้เมื่ออ่านแล้วจะต้องสามารถแปลกลับไปเป็นภาษาต้นฉบับได้

นำชัย ชีววิวรรธน์

เริ่มประโยคแรกมา เราเองก็ทั้งเห็นด้วยทั้งเห็นต่าง
ไม่ใช่อะไรนะ แต่เราเคยมีประสบการณ์การอ่านหนังสือแปลประเภทที่
“สามารถแปลกลับไปเป็นภาษาต้นฉบับได้”
มาหลายเล่ม และบอกเลยว่ามันรบกวนเรามาก
1. มันทำให้เรามัวไปแต่ไปแอบนึกว่า อ๋อ น่าจะแปลมาจากประโยคประมาณนี้แน่ ๆ
2. มันอ่านยากฉิบหายยยยยยย อ่านจบย่อหน้า แล้วบางทีต้องมีนั่งเรียบเรียงกันใหม่
ส่วนใหญ่งานแบบนี้เราจะอ่านไม่จบ

ปล. เราเคยอ่าน Sapiens ที่พี่ชิ้นเขียนเราคิดว่ามันไม่ได้เป็นแบบที่ว่า
“แปลกลับเป็นภาษาต้นฉบับได้” แบบตรงตัวเท่าไหร่นะ

ตรงข้ามเราชอบอ่านงานแปลที่มีสำนวนของผู้เขียนสรุปให้เป็นภาษาไทยมากกว่า
แบบที่พออ่านแล้ว นึกไม่ออกเลยว่าต้นฉบับมาจากภาษาอะไร
งานแบบนี้ใช้สมองรอบเดียว แล้วจบ อ่านง่ายและเข้าใจมากกว่า

พี่ชิ้นเอางานแปลมาให้ลองแปลหลาย ๆ อันแล้วเทียบกับที่แกแปลดู
พบว่าพี่ชิ้นเคารพต้นฉบับอย่างมากจริง ๆ
ตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อตัวเลขในต้นฉบับใช้เป็นเลขอารบิก แกก็จะแปลเป็นเลขอารบิก
ในขณะที่ในย่อหน้าเดียวกันต้นฉบับมาเลขที่เขียนเป็นตัวอักษร แกก็จะแปลเป็นตัวอักษร

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นด้วยกับพี่ชิ้นคือเรื่องเครื่องหมาย อย่างจุลภาค (,) หรือ อัฒภาค (;)
ที่ในภาษาอื่น ๆ มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ในภาษาไทยกลับไม่มีการใช้กัน
แต่เลือกใช้ เครื่อหมายวรรคตอน มาคั้นแทน ซึ่งอ่านยากฉิบหายยยยย

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างคือการสร้างคำขึ้นมาใหม่ เพื่อทดแทนคำในภาษาต่างประเทศ
เรื่องนี้ค่อนข้างกำกวม เพราะราชบัณฑิตฯ ได้มีการกำหนด “ศัพท์บัญญัติ” เอาไว้

ศัพบัญญัติ คือคำภาษาต่างประเทศที่มีการบัญญัติเอาไว้ ให้ใช้คำไทยทดแทนได้
เช่นล่าสุดที่เป็นข่าวกันคือ Metaverse คำไทยใช้ จักรวาลนฤมิต เป็นต้น
จริง ๆ เมื่อสมัยที่ยังสมองว่องไว หนุ่มแน่นกว่านี้ผมชอบบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเองบ่อย ๆ
แต่เมื่ออายุมากขึ้น อ่านหนังสือน้อยลงคลังคำก็ลดลงเรื่อย ๆ หลัง ๆ ใช้วิธีอธิบายยืดยาวทดแทน
ส่วนนึงก็ทำให้ มันยาวจนไม่น่าอ่าน และไปเปลี่ยนแปลงตัวประโยคที่ต้องการแปลไป

ตรงนี้พี่ชิ้นมีแบบฝึกหัดให้มาลองผิด อยู่ 20 คำ ผิดไปเยอะเหมือนกัน
ส่วนใหญ่มาตกม้าตายพวกคำยกเว้นทั้งหลาย เรื่อง การันต์
จะว่าไปการันต์นี่ตลกฉิบหาย เพราะในเมื่อไม่ต้องออกเสียงไม่เอามาสะกด
ก็ไม่ต้องใส่มาสิวะ!!!
จะต้องใส่การันต์ทำหอกอะไร !!!

ที่เหลือก็เรื่องของ ราชบัณฑิตฯ ล้วน ๆ ….
จนทำให้คิดว่าจริง ๆ ราชบัณฑิตฯ นี่เค้ามีประโยชน์อะไรนะ ?
ภาษามันมีเอาไว้สื่อสารไม่ใช่เหรอ ทำไมต้องพยายามทำให้มันยุ่งยาก
เปลี่ยนแปลงไปมา และยิบย่อยกับเรื่องไม่เป็นเรื่องด้วย
จะว่าไปนี่ก็สะท้อนภาพของประเทศเหมือนกันนะ
เรามีผู้มีอำนาจที่อยากกำหนดทุกอย่าง ไม่ต้องเถียง เรามีอำนาจ
ส่วนคนที่ได้รับคำสั่งมาก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง มั่ว ๆ กันไป

ช่วงบ่ายเป็นเมดเล่ย์ 3 หนุ่ม

แทนไท, หนุ่มโตมร และคุณท็อป

แทนไท, หนุ่มโตมร และคุณท็อป
มาเล่าเรื่อง รูตีน (by แทนไท) การแปล และประสบการณ์การแปล รวมถึงสไตล์ด้วย

นึกถึงประโยคภาษาอิตาเลียน ว่า Tradutore, Traditore ซึ่งหมายถึง The Translator is a traitor หรือ ‘นักแปลคือผู้ทรยศ’

โตมร สุขปรีชา

พี่หนุ่มโตมรเล่าให้ฟังสมัยที่เรียนแปลกับ อ.นพพร ประชากุล เมื่อนานมาแล้วว่า
อาจาร์ยพูดคำนี้โดยขยายความไว้ว่า
“ไม่มากก็น้อยผู้แปลเป็นผู้ที่ทรยศต่อต้นฉบับ” คือยังไงคนแปลก็ต้องไปเปลี่ยนแปลงต้นฉบับไปบ้าง
โดยมียกตัวอย่างการแปลงานของเชคเปียร์ ที่มีประโยคประมาณว่า
“สดชื่นเหมือนฤดูร้อน” แน่นอนว่าในบางประเทศรวมถึงประเทศไทย
ฤดูร้อนมันไม่ได้สดชื่นแบบนั้น ถ้าแบบนี้คนอ่านจะนึกออกได้อย่างไรว่า ฤดูร้อนนั้นมันสดชื่นยังไงวะ!!
เลยทำให้มีสำนวนการแปลอันนึงในอิสราเอลที่เปลี่ยน ฤดูร้อน ให้กลายเป็น ฤดูใบไม้ผลิ
จะว่าไปนี่คือการทรยศต่อต้นฉบับหรือเปล่า เมื่อปลายทางคนก็ยังได้รับสารที่คล้ายกันอยู่ดี

ผมไม่เคารพต้นฉบับเลย

แทนไท ประเสิรฐกุล

แทนไทเล่าว่าตัวเองใช้วิธีการแปลโดยการพยายามจินตนาการว่าฉากนั้น ๆ จะต้องเป็นอย่างไร
แล้วเลือกเอาประโยคมาใส่ โดยมีทั้งการเปลี่ยนคำ สลับคำ สลับตำแหน่ง หรือแม้แต่เลือกคำอื่นมาใช้
แต่สุดท้ายเป้าหมายคือเพื่ออยากให้หนังสือเล่มนั้นสามารถสื่อสารเนื้อความออกไปแล้วลื่นไหล

แปลทีละย่อหน้า แทนไท เล่าให้ฟังว่าใช้วิธีการ copy text ไปไว้ใน google doc
แล้วก็ค่อย ๆ แปลไปทีละย่อหน้า บางครั้งนั่งส้วมสาธารณะอยู่ก็แปลสักย่อหน้า
หรือรอคิวยาว ๆ ก็แปลไปเรื่อย ๆ ในมือถือ ทีละ 10 – 15 นาที
ในขณะที่พี่หนุ่มบอกว่าการแปลของพี่หนุ่มจะเป็นพิธีการที่ใหญ่โต
ต้องมี 3 – 4 หน้าจอนั่งลงแล้วแปลเท่านั้น

ผมใช้วิธีแปลแบบกระแสสำนึก (Stream of consciousness)

กิตติศักดิ์ โถสมบัติ

คุณท็อปเพิ่งเข้าวงการแปลมาแค่ 2 ปี แต่แปลหนังสือไปแล้ว 7 เล่ม
เรียกได้ว่า speed อยู่ในขั้นดีมาก ๆ เลย
คุณท็อปเล่าว่าเค้าจะแปลวันละ 4ชั่วโมงครึ่ง โดยแบ่งเป็รรูทีนชัดเจนครั้งละ ชั่วโมงครึ่ง
3 ครั้งต่อวัน แล้วจะมีความสุขกับการทำตามรูทีนได้สำเร็จ

ตรงนี้จะว่าไปทุก ๆ คน เหมือนกันคือต้องหั่นงานแปลออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ระดับ Micro
เช่นวันละ 2 หน้า หรือวันละ กี่ย่อหน้า เพื่อให้งานมันค่อย ๆ เดินทางไปจนเสร็จ
จะว่าไปงานใหญ่ ๆ อันอื่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน
ตอนเราแปล slide เตรียมสอนก็ทำแบบนี้ คือแปลงไปเลยว่าเรามี deadline เหลือกี่วัน
แล้ววันหนึ่งเราต้องทำให้ได้กี่ย่อหน้า ซึ่งโครตกดดัน

การแปลแบบ Stream of consciousness ของคุณท็อปคือ ใช้วิธีการนึกคำอะไรได้ก็ใส่ไปก่อนเลย
ค่อยมาขัดเกลาอีกที ตอนตรวจทาน
แทนไท ใช้วิธีการใช้ option เอาไว้ในงานตั้งแต่แรกเลย แล้วมาคัดตอน draft สอง-สาม

สรุป section นี้

งานแปลมี 3 สำนัก

  1. Metaphase คือการแปลแบบคำต่อคำ แบบที่พี่ชิ้นบอกว่าตอนเช้า เป็นการเคารพต้นฉบับแบบสุด ๆ
    สามารถแปลกลับไปเป็นต้นฉบับได้
  2. Paraphase แบบนี้คือเอาฐานของคำมาแต่แปลจากความหมายของมัน แบบนี้อาจไม่สามารถแปลกลับ
    ไปเป็นต้นฉบับได้ แต่ความหมายถูกต้องลื่นไหล
  3. Imitation คือการแปลแบบหลวม ๆ อาจมีการดัดแปลง ตัดทอน เช่นในกามนิต ที่ผู้แปลไม่ได้แปลบางส่วน
    ที่คิดว่าอาจไม่เหมาะสมกับบริบทของเมืองไทยขณะนั้น และเป็นการทำลายศาสนาเป็นต้น

สุดท้ายเป็นคำถามอื่น ๆ รวม ๆ เอาที่น่าสนใจมาไว้

Q : แปลหลายคนได้ไหม?
A : ถ้าเป็น non-fiction ได้ อย่างกำเนิดสปีชีย์ใช้ผู้แปลถึง 7 คนแต่ต้อง sync กันดี ๆ
ส่วน fiction ไม่ได้
A : พี่หนุ่มเล่าว่าที่จีนแปล 300 หน้าเสร็จในวันเดียว เพราะใช้คนแปล 300 คน แต่ไม่น่าจะดี เพราะ
การใช้คนแปลเยอะ ๆ ภาระจะตกอยู่ที่ บก. ทำให้งานนั้นกลายเป็นงานของ บก. แทน

Q : ถ้ามีคำหยาบ จะแปลยังไง?
A : ก็ต้องไถพยายาม แปลให้มันเข้ากับบริบทที่สุด แล้วก็ถาวนาว่าอย่าเจอเลย
A : Non-Fiction ไม่มีคำสบถ อยู่แล้ว !

Q : เจอคำศัพท์เฉพาะจะทำยังไง?
A : มี 3 option
1. ใส่เป็น foot note จะดูจริงจัง แต่ก็อ่านยาก
2. ใส่อธิบายไปในวงเล็บต่อท้าย แบบนี้จริงจังน้อยลง อ่านง่ายขึ้น
3. ใส่อธิบายไปเลยคืออาจจะเปลี่ยนคำไปเลย แบบนี้จริงจังน้อยสุด

Q : ถ้าเจอชื่อสัตว์ที่ไม่มีคำในไทย แต่แปลความหมายได้ละ สมมติ spike back fish hunter จะแปลหลังหนามกินปลาได้ไหม หรือจะทับศัพท์ไปเลย?
A : แล้วแต่ ….

จริง ๆจะว่าไป คอร์สนี้ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังเท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่ามันแย่นะ แค่ไม่เหมือนที่คิดไว้
แต่ก็เปิดโลกมากมาย
ส่วนตัวได้แรงบันดาลใจจะกลับไปอ่านหนังสืออีกรอบ หลังจากอ่านแต่ตำรามานาน
เล่มแรกที่เล็งเลยคือ Hitchhiker’s Guide to the Galaxy จะได้เติมคลังคำหน่อย

เรื่องที่สองคืออยากค่อย ๆ ทำไปทีละเล็กละน้อย ด้วยวินัยอีกครั้ง หลังจากย่อหย่อนมานาน

อยากลองแปลหนังสือสักเล่มจัง เราคงแปลแบบไม่เคารพต้นฉบับสุด ๆ แน่เลย

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s