ในคติขงจื้อมีคำนึงที่กล่าวว่า
“บุญคุณต้องทดแทน ความแค้นต้องชำระ”
คำนี้มี 2 ส่วนคือส่วน
“บุญคุณ” ที่ควรจะต้องทดแทน
ซึ่งในส่วนนี้สังคม (ส่วนใหญ่) ก็มักไม่ค่อยมีปัญหากับมันเท่าไหร่นัก
และส่วน “ความแค้น” ที่จะต้องหาทางชำระ
ภาพยนต์จีนบางเรื่องถึงขั้นใช้คำว่า “แก้แค้นสิบปียังไม่สาย”
ซึ่งส่วนนี้แหละที่สังคมสมัยใหม่เริ่มมีปัญหากับมัน
ทำไมการแก้แค้นถึงดูมีปัญหา?
… ถ้าคิดตามตรรกะเหตุผล
การแก้แค้น ทำให้เกิดความแค้นที่ไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดการแก้แค้นไม่สิ้นสุด
แถมระหว่างที่แก้แค้นยังไม่ได้ ก็มีความโกรธเคืองเผาไหม้ใจตัวเองไปเรื่อย ๆ ด้วย
… แต่ความจริงมันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น !
เมื่อการแก้แค้นเป็นธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต
การแก้แค้นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าคุณจะไม่ยอมถูกทำร้ายอยู่ฝ่ายเดียว
การแก้แค้นอย่าง เอะอะมะเทิ่ง จึงเป็นการประกาศให้สังคมรู้ว่า
“อย่ามาแหยมกับข้านะเว้ยยย”
ทำให้ต้นทุนก็การรุกรานเราดูสูงขึ้นไปอีก ทำให้เรามีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ยากขึ้น
นอกจากนี้การแก้แค้นประเภท “ทำให้มันตาย หรือหายไป”
ยังเป็นเครื่องการันตีว่า ภัยคุกคามนั้นจะหายไปอย่างถาวรอีกด้วย
ในปี 2020 ได้มีการทดลองว่าการแก้แค้นนั้นให้ความพึงพอใจ ให้กับคนได้
ในกลุ่มทดลอง 1516 คน
ผู้ทดลองได้ลองทำให้คนเหล่านี้ แค้นโดยการด่างานเขียนของกลุ่มทดลอง (แบบแย่ ๆ)
หลังจากนั้นก็ให้เสียบตุ้กตาที่หน้าตาเหมือนคนวิจารณ์เพื่อเป็นการแก้แค้น
ทีมวิจัยพบว่า ขั้นตอนนี้สามารถ “ซ่อมอารมณ์” ของผู้เข้ารับการทดลองได้
สำหรับบางคนอาจได้พอ ๆ กับตอนที่ได้รับคำชมด้วยซ้ำ (https://psycnet.apa.org/doiLanding?doi=10.1037%2Fpspi0000080)
ดังนั้น การพยายามฝืนธรรมชาติด้วยการ “ให้อภัย”
จึงเป็นสิ่งที่ต้องการความพยายามในระดับหนึ่ง
เพราะถือเป็นการพยายามฝืนธรรมชาติของตัวเอง
ซึ่งการฝืนธรรมชาติย่อมมีต้นทุนของมันเอง
ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนล้าในจิตใจ
หรือเป็นเรื่องอารมณ์ที่ยังคงสามารถขุ่นเคืองเป็นบาดแผลได้ทุกเมื่อ
ไม่นับว่านั่นอาจทำให้เรารับบทเป็น เหยื่อ ที่ถูกทำร้าย ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็เป็นได้
แต่การแก้แค้นก็เป็นต้นต่อของวงจรอุบาทว์ของการแก้แค้นซ้ำไปซ้ำมา ไม่จบไม่สิ้น
สังคมสมัยใหม่จึงพยายามรับผิดชอบบทบาทของการแก้แค้นให้
สิ่งนั้นเรียกว่าบทลงโทษทางกฏหมาย
รัฐทำหน้าที่ลงโทษคนที่ทำผิดร้ายแรงให้ เพื่อจะได้ตัดวงจรการพยายามแก้แค้นไปมา
ซึ่งทำให้สังคมไม่สงบเรียบร้อย ทั้งยังเป็นปรปักษ์กับ productivity ของสังคมด้วย
แต่หลาย ๆ ครั้งเราก็พบว่า กฏหมาย ไม่ได้ยุติธรรม หรือทำงานได้อย่างที่เราคาดหวังเอาไว้
นั่นกลายเป็นการเพิ่มน้ำหนักความแค้นให้ซับซ้อนขึ้นอีกชั้น
คือความแค้นที่มีต่อคู่กรณี ทับถมความแค้นที่กฏหมายก็ทำอะไรมันไม่ได้ด้วย !!
การแก้แค้นจึงเป็นของหวาน และอาจเป็นทางเลือกที่ถูกใข้เพื่อ “ซ่อม” ความรู้สึกที่เสียไป
และในงานทดลองอื่น ๆ ที่มีมาก่อนหน้า พบว่า “ความแค้น” ไปกระตุ้นให้สมองมีกิจกรรมมากขึ้น
หลายคนมีอาการหน้าแดง มือเย็น มือสั่น ปากสั่น นัยตาเบิกกว้าง
ซึ่งเป็นสัญญาณของการอยากจะทำอะไรสักอย่าง (เช่นออกไปต่อยหน้ามัน!)
จึงทำให้คนที่มีความแค้น มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายน้อยกว่าคนที่พยายามปล่อยวาง
หลายครั้ง (ส่วนตัว)
ความแค้นเป็นแรงผลักดันให้ทำอะไรอย่างไม่ลดละ จนสำเร็จ
เพื่อจะไปตบหน้าคนที่เราเคยแค้น เท่านั้นเอง แต่นั่นแหละกลายเป็นผลลัพธ์ที่ดีไปเสียอีก
ความแค้นจึงมีฟังก์ชันของมันเอง ที่ธรรมชาติยังคัดเลือกมาในสายพันธุ์ของเรา
อย่าเพิ่งรีบไปปฏิเสธมันทั้งหมด อย่าไปรู้สึกผิดที่ตนไปโกรธแค้นใคร
การให้อภัยอาจไม่ได้เป็นทางออก ของทุกความแค้น
เลือกที่จะแก้แค้นบ้าง ก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นคนไม่ดี
ในทางตรงกันข้ามการแก้แค้นอาจเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ที่จะขับเคลื่อนให้ชีวิตเราดีขึ้นก็ได้
ใครจะไปรู้