เขาพาราป่าแห่งหนาม ในนามของเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เถื่อนที่สุดในประเทศไทย

Posted by

https://soundcloud.com/suksit-kwanoran/xichenr7liza

 

ณ วันสุดท้ายของการเป็นพนักงานประจำ…

จู่ๆพี่ที่เดินป่าด้วยกัน ก็ chat มาทาง messenger แจ้งว่า นัดกันจะไปเดินป่าในที่แห่งหนึ่งใน ภูเก็ต เป็นป่าที่ชื่อไม่คุ้นหู เอาเข้าจริงแล้วไม่ว่าป่าไหนๆในภูเก็ตก็น่าจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูทั้งนั้นแหละ ทั้งๆที่บ้านเกิดผมเป็นคนภูเก็ต แต่นั่นแหละแผนที่จังหวัดภูเก็ตในหัวผมมันจำกัดแค่บ้าน โรงเรียน แล้วก็ร้านหนังสือเท่านั้นเอง จะว่าไปมันเล็กกว่าแผนที่ในจังหวัดเชียงใหม่ในหัวผมเสียอีก

“เดินป่าที่บ้านเกิดมันต้องน่าสนใจสิ” อันนี้ผมคิดอยู่ในใจ

แล้วก็ตบปากรับคำไปโดยทันทีทั้งๆที่ไม่มีรายละเอียดหรือแม้แต่วันเดินทาง

เรานัดกันเย็นวันนึงในย่านใจกลางเมือง

เอาเข้าจริงกลุ่มเราก็ห่างหายจากการเดินป่ามานานพอสมควรทั้งหมดเลย จากที่เคยเดินมันทุกสัปดาห์ กลายเป็น 2 – 3 เดือนครั้ง แต่เมื่อได้เจอกันพูดคุยกันเรื่อง “ป่า” มันก็กลับทำให้ไฟในการออกผจญภัยของเราครุกรุ่นอีกครั้ง

เราตกลงกันเรื่องแผนคร่าวๆ โดยที่ผมเองก็ไม่ค่อยแน่ใจในแผนที่เท่าไหร่นัก แต่เชื่อมั่นมากว่าพวกเราไม่มีปัญหาแน่ๆ

ตอนแรกผมตั้งใจจะกลับบ้านสักสัปดาห์เลย แต่มีงานด่วนแทรกเข้ามาเลยทำให้ต้องรีบกลับ แต่ดูจากป่าแล้วไม่น่าจะมีปัญหาเท่าไหร่

ทำไมจึงเชื่อแบบนั้น

ภูเก็ตเป็นเมืองที่เป็นเมืองจริงๆ มีส่วนที่เป็นป่าน้อยมาก อาจจะเพราะความเจริญ เพราะการท่องเที่ยวที่ปกคลุมไปทั่วทั้งเกาะทำให้พื้นที่ป่าถูกถอยร่นไปเหลือแค่บนเขานิดเดียว เมืองล้อมป่าแบบนี้ไม่ว่ายังไงเราก็ออกมาได้อย่างเร็วอยู่แล้ว

ในใจคิดว่าเราจะแค่เดินขึ้นไปดูนิดหน่อยแล้วกลับลงมาเท่านั้น

วันเดินทางเราออกเดินทางตั้งแต่เช้าเพื่อจะได้มีเวลาพอจะไปเติมเสบียงที่ภูเก็ตให้เรียบร้อยก่อนขึ้นเขา ก่อนเดินทางเราเช็คพยากรณ์อากาศแจ้งว่ามีโอกาสเจอฝนตกอยู่พอสมควร แต่พอลงที่สนามบินภูเก็ตพบว่าฟ้ากลับใสกิ้งไม่มีเมฆเลย

20190907_073432
บนเครื่องกัปตันบอกว่าอุณหภูมิที่สนามบินคือ 24C ลงไปนี่เหงื่อซึมเลยทีเดียว 24C

เราอาศัยเอาสวนยางแห่งหนึ่งเป็นจุดขึ้น ถามว่ารู้ได้ยังไงว่าขึ้นตรงนี้ คำตอบคือไม่รู้หรอกก็แค่เดินๆ ขึ้นไป ดูแล้วทางมันน่าจะสั้นดี

ปรากฏว่าเดินไปได้ไม่เท่าไหร่ก็พบกับเส้นทางถนน ใช่แล้วมันเป็นถนนดินที่มีร่องรอยการเอารถวิ่งไปมาอยู่บ่อยๆ เราเดินตามถนนไปเรื่อยๆ จนกระทั้งเจอกับบ้านคน แต่อาจจะไม่ใช่บ้านที่อาศัยอยู่ถาวร แต่เป็นบ้านที่ใช้พักชั่วคราวตอนเข้ามาทำสวนมากกว่า แต่กระนั้นสวนที่เห็นก็ดูร้างเหลือเกิน เหมือนกับว่าไม่ได้มีคนเข้ามาดูแลมันซักเท่าไหร่

20190907_113845
เป็นทางแบบที่มอไซค์ผ่านได้สบายๆ นึกว่าจะรกกว่านี้เสียอีก 

เพียงแค่ลับบ้านหลังนั้นพวกเราก็ตกใจ ป่าที่เห็นเป็นป่าที่สมบูรณ์มาก เหมือนมันไม่เคยถูกบุกรุกมาก่อนเลย ต้นไม้สูงเหยียดขึ้นฟ้า บางต้นใหญ่ 5 – 6 คนโอบ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีป่าแบบนี้ประชิดเมืองอยู่ใกล้แค่นี้เอง

ตรงนี้มีทางป่าที่เป็นทางเก่าที่ถูกสร้างโดยเครื่องจักรอยู่ พวกเราตามรอยนั้นไปเรื่อยๆ โดยไม่ทราบที่มาเหมือนกันว่าเส้นทางนี้ถูกทำไว้ทำไม

แต่เมื่อถึงจุดนึงที่เราเริ่มห่างจากจุดหมายคือยอดเขาเราไปเรื่อยๆ เราเลยตัดสินใจเดินตัดขึ้นตรงๆสู่ยอดเขาเลย เส้นทางค่อนข้างรกมากมีร่องรอยการฟันทางอย่างบ้าบิ่นมาก่อน คือถ้าเป็นพรานหรือคนธรรมดาเวลาฟันทางอาจจะเลือกฟันหนาม หรือกิ่งไม้ ต้นไม้เล็กๆเพื่อเปิดทางหรือทำร่องรอยเอาไว้ แต่นี่เป็นร่องรอยการฟันแบบถางแหลก ในครั้งแรกเราเข้าใจว่าน่าจะเป็นเส้นทางที่มีคนนำนักท่องเที่ยงเดินขึ้นมายังยอดเขาก็เป็นได้ แต่ร่องรอยนั้นก็แปลก เพราะมันมาและหายเป็นระยะๆ เหมือนกับว่าคนที่เดินมาก่อนหน้าเขามากันเป็นจำนวนมาก และเริ่มฟันก็ต่อเมื่อคนหลุดกายจากกันเท่านั้นเอง แต่เมื่อลงมือฟันก็ลงมือฟันเอาเสียมากมาย

เราเลือกตามร่องรอยของคนก่อนหน้าไปเรื่อยๆ รอยมีบ้าง หายบ้างแต่เชื่อว่าถ้าไม่ใช่ตัวประหลาดยังไงก็ต้องเดินมาทางนี้แน่ๆ ราวๆ 2 ชั่วโมงกับความชัน 400+ เมตรเราก็ได้พบกับคำตอบของร่องรอยที่เราเห็นตอนขึ้นมา นั่นคือโครงการคืนชะนีสู่ป่านั้นเอง

โครงการคืนชะนีสู่ป่าเป็นส่วนอนุรักษ์และศึกษาวิจัยของมูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ได้แก่ กลุ่มเอเชียไวด์ไลฟ์ฟันด์ คุณเทอร์เรนท์ ดิลลอน มอริน และคุณนภดล พฤกษะวัน หัวหน้าป่าไม้จังหวัดภูเก็ตในขณะนั้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ชะนีและผืนป่าอันเป็นถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ โดยการฟื้นฟูชะนีให้มีความพร้อมที่จะปล่อยคืนสู่ป่า รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาเชิงอนุรักษ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวทั่วไป

ทำไมถึงรู้? ข้างบนมีกรงตาข่ายที่ทำขึ้นมาสำหรับโครงการนี้อยู่ แต่สภาพน่าจะถูกปล่อยทิ้งร้างมานานแล้ว แต่เท่าที่เห็นก็ยังไม่ได้ยินเสียงชะนีซักตัวนะ

แน่นอนว่าบนนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ วิวไม่ได้เปิดเราตัดสินใจว่าเราต้องลงไปหาน้ำให้เจอก่อนแล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อ ตามแผนของเราเราจะตัดไปลงแถวๆเขาพระแทวเพื่อออกทาง อช. เส้นทางส่วนใหญ่ก็ไม่ต้องขึ้นชันเหมือนที่เราเดินมาซักเท่าไหร่นักแล้วน่าจะสบายๆ แต่หารู้ไม่ว่าความบันเทิงมันเริ่มต้นที่นี่

เส้นทางเป็นทางลงเขาแบบเอื่อยๆ คือไม่ได้ลงชันมากจริง ระหว่างทางเจอกับด้วงงวงช้างด้วย ตาแป๋วเลย ต้องแอบถ่ายกันเบาๆ

20190907_143714
แม่ลูกนั่งตาแป๋ววว มือถือเก็บได้แค่นี้เข้าไปใกล้กว่านี้เดี๋ยวรบกวน

ลงมาอีกหน่อยก็เจอกับริบบิ้นแบบที่คุ้นเคย ใช่แล้ว!! มันคือริบบิ้นสำหรับทางวิ่งเทรลแน่ๆ เราเดินตามมาจนกระทั่งเจอป้ายบอกระยะของงาน และพบค้นข้อมูลต่อก็พบว่า พรุ่งนี้เค้าก็เริ่มวิ่งกันแล้ว เราเดินตามริบบิ้นมาเรื่อยๆจนกระทั่ง… หลง

20190907_142158

เราหลงจากเส้นทางหลักที่เราอยากจะเดิน เลยต้องเริ่มตั้งหลักจิ้ม GPS กันใหม่เส้นทางเลยแปลกๆ ทุลักทุเลและที่สำคัญคือ หนามเยอะมาก เรียกว่าพืชพรรณหนามเกือบทุกประเภทที่เคยเจอในป่าไทยมากองสุมกันอยู่ในบริเวณนี้เกือบทั้งหมด ทั้งหนามหวาย หนามระกำ หนามเล็บหยี่ยว ฟ้าแล่บ พืชหนามบางชนิดก็ไม่รู้จักแต่เป็นหนามประเภทที่งุ้มเข้าคือถ้าโดนต้องเดินถอยหลังมาถอดอย่างเดียว ถึงตอนนี้ในใจผมตั้งชื่อป่านี้ให้เสร็จสรรพแล้วว่ามันคือ ป่าแห่งหนาม…

สิ่งนึงที่ทุกคนต้องถ่ายเอาไว้ในป่าแห่งนี้คือไผ่ ทุกคนที่มาด้วยกันไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องไผ่เลย แต่เอาเป็นว่าจากประสบการณ์ที่เจอมาเราก็ไม่เคยเจอไผ่แบบนี้มาก่อน เรียกว่ามันเป็นไผ่ที่แปลกมากคือต้นอวบใหญ่ฐานมีเปลือกสีดำลายเหมือนลายไทย เวลาแตกกออยู่เป็นกลุ่มๆ ไม่ขึ้นระเกะระกะ

20190907_161000
จริงๆไผ่สวยมากน่าจะตั้งใจถ่ายมากกว่านี้ 

อีกสิ่งนึงที่ประหลาดมาก และผมเพิ่งเคยเห็นที่นี่เป็นครั้งแรกคือใบปาล์มที่หน้าตาเหมือนร่ม ครั้งแรกที่เห็นมันเด่นชัดมากในป่า เป็นใบปาล์มทรงร่มผมเลยเดินเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ ขณะนั้นเอง ก็มีตัวอะไรสักอย่างพุ่งออกมาจากใบปาล์มนั้นหลายตัว เมื่อตั้งสติมองให้ชัดก็พบว่ามันคือ ค้างคาว!! ใช่ค้างคาวอาศัยอยู่ในใบปาล์ม โดยมันจะทำการหักใบปาล์มเป็นทรงร่ม แล้วเข้าไปเกาะซ่อนตัวอยู่ข้างใน

20190907_163550
ในนี้มีค้างคางอาศัยอยู่

ซึ่งเอาจริงๆนี่เป็นสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นได้ง่ายนัก ผมเองตอนกลับมาบ้านแล้วค้นข้อมูลต่อก็พบว่าข้อมูลน้อยมาก และไม่มีที่เป็นภาษาไทยเลย แล้วปาล์มที่นี่มันเตี้ยมากด้วยมันเลยชัดเจนมาก

common-fruit-bats_4873
อันนี้ยืมรูปมาจากที่อื่น เพราะมันถ่ายไม่ทันจริงๆ

เวลา 4 โมงครึ่งแล้วแต่เรายังไม่มีวี่แววจะเดินไปยังจุดที่เราสามารถตั้งแคมป์หรือหาน้ำได้เลย ลำพังน้ำที่แบกเข้ามาก็พอสำหรับการกินนั่นแหละ แต่ก็เป็นความกังวลที่เราอยากจะกำจัดมันไป เราเริ่มเร่งฝีเท้ามากขึ้นจนกระทั่งเพื่อนๆที่มาด้วยกันเริ่มไม่ค่อยไหวต้องพักกันเป็นระยะๆ ดูจากเส้นทางเส้นทางนี้อาจจะนำเราออกไปยังถนนเลยแต่มันก็ไกลมาก เราจึงตัดสินใจตัดป่าลงเหวลงไปหาน้ำ เพราะดูจากแผนที่คาดว่าน่าจะเป็นน้ำแน่ๆ หลังจากลงไปได้เพียง 2 – 3 เมตร เราก็ได้ยินสียงน้ำแบบดังมาก ดังจนไม่แน่ใจว่ามันเป็นน้ำจริงหรือเปล่า เพราะพวกเราคิดว่าน้ำน่าจะสายเล็กๆเพียงนิดเดียว แต่หลังจากไถลงไปแบบทุลักทุเลมากมาย เราก็ได้เจอกับสายน้ำใหญ่ที่เราไม่รู้ชื่อ เราจึงคิดว่าคืนนี้เราน่าจะต้องปักหลักกันที่นี่ แต่เมื่อกำลังจะเข้าไปใกล้น้ำผมก็โดนหนามของต้นเต่าร้างปวดแสบและคันไปทั้งมือทิ้งท้ายก่อนนอนอีกด้วย

20190908_072915
แคมป์ชิวกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว 

คืนนี้เราจัดแจงทำแกงคั่วเห็ดแครง, สันอกไก่ชุบแป้งทอด และไข่ผัดใบเหลียง กินกันอย่างเอร็ดอร่อย น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จนพอให้เราแช่น้ำได้อย่างสบายใจ อากาศไม่หนาวไม่ร้อน ไม่ชื้น เรียกว่านอนคืนนั้นได้อย่างสบายสุดๆไปเลย

วันที่สองเราเริ่มเดินแต่เช้าเรียกว่าเดินตัดขึ้นเขาเพียวๆ โดยเราตั้งใจจะตัดภูเขาลูกข้างหน้าเพื่อไปออกยัง อช.น้ำตกโตนไทร พอหมดความชันของภูเขาเราก็ได้เจอกับ ดงปาล์มหลังขาวจำนวนมาก

ปาล์มหลังขาวหรือปาล์มเจ้าเมืองถลาง เป็นปาล์มชนิดเดียวในสกุล Kerriodoxa เป็นปาล์มเฉพาะถิ่นที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย ลักษณะเป็นปาล์มลำเดี่ยวขนาดกลาง สูงได้ถึง 12 เมตร ขึ้นรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือสีเขียวเข้ม แผ่ออก 25-35 ใบ ใต้ใบสีขาวเป็นมัน ก้านใบสีเกือบดำ ยาวได้ถึง 2 เมตร ช่อดอกออกระหว่างกาบใบ 2-4 ช่อ ผลทรงกลมแบนสีเหลืองอมส้ม โดยปาล์มหลังขาวพบเป็นแห่งแรกในโลกที่เขาพระแทว จังหวัดภูเก็ต ต่อมาจึงมีการพบเพิ่มเติมอีกที่ เขาหลวง(นครศรีธรรมราช) เขาสก(สุราษฎร์ธานี) จัดเป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ของเมืองไทย เนื่องจากระบบนิเวศของป่าดิบชื้นเมืองไทยได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติลดน้อยลงไป

20190908_095813

20190908_110157
ต้นนี้เหมือนจะมาโชว์ให้ดูว่าหลังขาวเป็นยังไง 
20190908_100458
ใบปาล์มนี้ ตอนแรกงงมากว่ามันขึ้นมาแบบนี้ได้ยังไง คือมันพรวดขึ้นมาจากพื้นได้ไง ปรากฏว่ามันถูกตัดแล้วร่วงลงมาปักที่พื้นแบบนี้ ซึ่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วดูสารคดีคนตัดใบปาล์มที่จีนก็ร้องอ๋อเลย มันร่วงลงมาปักตรงๆแบบนี้จริงด้วย

เราก็เลือกถ่ายรูปปาล์มหลังขาวไปเรื่อยๆ กันอย่างเพลิดเพลิน แต่พอเข้าไปถ่ายใกล้ๆ ก็มีมดแดงที่ดุมาก คือมันกัดเจ็บมากๆ แล้วมันก็ไม่ลังเลเลยคือมันกัดเลย ทำให้รีบปัดรีบถอยออกมาโดยด่วน เรียกได้ว่าป่านี้ดันมดเลยทีเดียว

และแล้วเราก็ได้เจอกับริบบิ้นอีกแล้ว เป็นงานเดียวกับเมื่อวานที่เราเจอนั่นแหละแต่มันเป็นระยะที่ไกลกว่า เหมือนเดินเราเดินตามริบบิ้นซึ่งผูกไปตามทางโล่งๆ สวยๆ ขึ้นเขาไปเรื่อยๆ

20190908_103655
อันนี้ถ่ายริบบิ้นมาให้ดูนะอย่าคิดเป็นอย่างอื่น

เราก็เริ่มพบว่าเราออกจากเส้นทางของเราไปเรื่อยๆ ไกลพอสมควร หลังจากตัดสินใจอยู่พักหนึ่งเราก็ตัดสินใจเดินย้อนกลับไปทางเดิมเพื่อเดินเลียบน้ำไปเรื่อยๆ แทนที่จะขึ้นเขา ทางเดินค่อนข้างลำบากนิดหน่อย จนกระทั่งเราเจอกับป้าย เป็นป้ายที่ไม่ได้บอกอะไรมากกว่าเป็นลูกศรชี้ไป แต่เป็นป้ายที่ทาง อช. ทำขึ้นมาแน่ๆ เราเลยเดินสวนลูกศรนั้นลงไป ไม่นานเราก็ได้เจอกับป้ายของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ก็พวกป้ายสถานนีที่ 10 นักบุญแห่งป่านักฆ่าแห่งพงไพรอะไรราวๆนั้นแหละ พอเห็นแบบนั้นเราก็ชะล่าใจว่าถึงแล้วละสบายๆ

20190908_120056
คิดว่าออกจากป่าได้แล้วถ่ายรูปเก็บไว้หน่อย ปรากฏว่าคิดผิด

แต่ไม่เลย!! เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่ว่านั้นมันไม่ใช่เส้นทางแล้ว เหมือนกับว่านี่คือเส้นทางนี้ไม่ได้ถูกใช้มาเป็นเวลานานมากแล้วจนกระทั้งต้นไม้ทับถมกันจนปิดทางไปหมด ต้องแกะทาง ปีนป่าย ไถลตัว จากน้ำตกที่เป็นหน้าผา

เอาเป็นว่าถ้ามันเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติมันคือเส้นทางที่เถื่อนที่สุดเท่าที่มีมาเลยทีเดียว จนกระทั่งมันกลายมาเป็นชื่อตอนนี้นั่นแหละ เราใช้เวลาอีกเกือบชั่วโมงจึงเอาตัวเองลงมาจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ อันแสนเถื่อนนี้ได้

20190908_120429
ตามน้ำตกลงมาเรื่อยๆ 

ข้างล่างคือน้ำตกโตรไทรมีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง เราจึงอาศัยอาบน้ำที่น้ำตกนี่แหละ หลังจากลงมาจากเขาได้สักพักฟ้าที่แสนสดใสก็กลายเป็นครึ้มและฝนตกในที่สุด เรียกว่าเราโชคดีมากที่ตลอด 2 วันเราไม่เจอฝนเลย เป็นอันจบทริปที่แสนแปลกประหลาดไปอีก 1 ทริป

20190908_134841
น้องตามลงมาส่ง..

เรื่องที่ประทับใจมากคือในป่าที่ไม่ได้คาดหวังอะไรเลยกลับมีทั้งเส้นทางและ ป่าที่ทั้งประหลาดทั้งสวย แม้จะไม่ได้เห็นวิวเปิดเลยแม้แต่น้อย แต่ก็เป็นป่าที่น่าจดจำเหลือเกิน

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s