Cloud คืออะไรแล้วมันต้องอยู่บน ฟ้าไหม?
หลังๆมา เราคงได้ยินคำว่า cloud เยอะแยะไปหมดไม่ว่าจะเป็น iCloud, Cloud computing หรือ ระบบ Cloud ที่ใช้ในการเก็บข้อมูล แต่เอาเข้าจริงแล้ว Cloud มันคืออะไรกันแน่แล้วมันต้องอยู่บนผู้ให้บริการไหม?
นี่เป็นอีกหนึ่งคำที่คน IT เราตั้งขึ้นมาเท่ๆ เพื่อเรียกชื่อของการใช้ทรัพยากรบางอย่างที่เอาจริงๆ มันก็เคยมีอยู่แล้วละแต่มันมีชื่อเรียกที่หลากหลาย ก่อนจะมาเป็น cloud การใช้งานทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของเราเป็นแบบใครซื้อมาเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น เหมือนคอมที่บ้านเรานั่นแหละ วันนึงเราอยากเล่นเกมส์ที่ต้องการสเปคเครื่องสูงๆ เราก็อาจจะต้องไปซื้อการ์ดจอ ซื้อแรมหรือหน่วยความจำเพิ่ม ถ้าพื้นที่เก็บข้อมูลไม่พอก็ไปซื้อฮาร์ดดิสก์เพิ่ม นี่คือวิธีการที่เราใช้มาอย่างยาวนานแล้ว
แต่มาถึงจุดนึงก็มีคนหัวใสคิดขึ้นมาว่า เอ๊ะแทนที่จะซื้อมาแล้วใช้คนเดียว เราแบ่งไปให้คนอื่นใช้โดยกำหนดสิทธิการเข้าใช้งานให้แล้วเก็บตังดีกว่า เพราะโดยทั่วไปเวลาเรามีคอมพิวเตอร์อยู่มันก็ไม่ได้ทำงานเต็มที่ตลอดเวลาหรอก
จนกลายเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่ให้เช่า Server ที่เอาไปตั้งที่ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตแล้วแบ่ง Server นั้นให้คนใช้งาน ระบบแบบนี้มีหลากหลายบริการเลย มีตั้งแต่ เช่า Bit Colo (Bit คือ Bit torrent เป็นการ download file ประเภทหนึ่งที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนไฟล์กันตรงๆเลยโดยไม่มีตัวกลาง ส่วนคำว่า Colo ก็มาจาก Co-location คือการไปขอใช้พื้นที่ของผู้ให้บริการ) ซึ่งเจ้า bit-colo นี้เคยนิยมมากสมัยหนึ่งเพราะเราต้องการ internet แรงๆ ที่ใช้งานได้ตลอดเวลาการเอาเครื่องของเราไปตั้งไว้ที่ศูนย์ข้อมูลของผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตย่อมเร็วสุดๆไปเลย หรืออีกบริการนึงที่ยังมีอยู่คือ VPS หรือ Virtual Private Server มันคือการขอเช่าใช้ Server ของผู้ให้บริการโดยตกลงกันไว้ก่อนว่าอยากได้ทรัพยากรเครื่องมากแค่ไหน CPU เท่าไหร่ RAM เท่าไหร่ HDD เท่าไหร่แล้วจ่ายกันเป็นรายเดือน ผู้ให้บริการก็จะเอาเครื่องที่มีอยู่ไปแชร์ให้ลูกค้าหลายๆเจ้ามาแย่งกันใช้ ซึ่งแน่นอนว่าผู้ให้บริการก็จะได้กำไรเพราะเค้าจะขายในปริมาณเกินกว่าทรัพยากรที่ตัวเองมี เพราะโดยธรรมชาติไม่มีเครื่องใดใช้งานทรัพยากร 100% ตลอดเวลา
หลายๆคนเข้าใจว่า แค่เราไปใช้งานทรัพยากรจากผู้ให้บริการแล้วจะกลายเป็น Cloud ทันทีแต่เอาจริงๆแล้วยัง คือ Cloud เนี้ยะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงมาก ซึ่งในเคสนี้จะมีคำพูดนึงที่คมมากและเปรียบเทียบได้ดี พูดโดย Theodore Levitt ซึ่งเป็น Marketing Professor ใน Harvard กล่าวว่า “People don’t want to buy a quarter-inch drill. They want a quarter-inch hole.” แปลเป็นไทยคือ คนเราไม่ได้อยากซื้อสว่านขนาด 2 หุนหรอกแต่คนเราแค่อยากได้รูขนาด 2 หุนบนกำแพง ซึ่งจริง จริงมากๆ จำได้ว่าครั้งล่าสุดที่ซื้อสว่าน Makita ราคาแพงก็เอามาเจาะแค่ 3 – 4 รูเท่านั้นแล้วก็ไม่เคยเอามาใช้อีกเลย เลยกลายเป็นที่มาของ keyword อีกคำเท่ๆอีกแล้วคือคำว่า as a service โดยเอาอะไรซักอย่างที่จะขายไปนำหน้าแล้วตามด้วย as a service เช่น Storage as a service คืออยากได้พื้นที่เก็บข้อมูลแต่ไม่อยากซื้อเองผู้ให้บริการก็มีให้บริการ หรือ E-mail as a service คืออยากได้ระบบ E-mail แต่ทำเองยากดูแลยาก งั้นก็อยากใช้อ่ะทำให้หน่อย
แต่ใช่ว่าพอไปใช้บริการของคนอื่นแล้วจะกลายเป็น Cloud ทันที
มีหลายค่ายให้คำนิยามของมันเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น NIST, Gartner หรือ ISO ต่างก็มีชุดคำนิยามของตัวเอง แต่ไม่ว่าจะอ่านคำนิยามความหมายของ Cloud ของค่ายไหนผลลัพธ์ที่ได้ก็เหมือนๆกัน โดย Cloud จะมีลักษณะ 5 อย่างที่จะต้องมี จะขาดสิ่งใดสิ่งนึงไปไม่ได้เลย คืออะไรบ้าง มาลองฟังไปพร้อมๆกัน
- Broad Network Access อันนี้แปลง่ายๆคือเข้าจากที่ไหนก็ได้แบบไม่มีข้อจำกัด คือสามารถเข้าผ่าน internet อะไรก็ได้ที่ไหนก็ได้ ด้วยเครื่องมือที่ง่ายที่สุด เช่นใช้ Web browser และเป็นมาตรฐานที่สุด
- มันต้องมีความสามารถที่เป็น on demand self service provisioning with low effort คือต้องสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องคุยกับผู้ให้บริการเลย อยากใช้เมื่อไหร่ ตอนไหนก็เข้าไปทำผ่านหน้าเว็บแล้วได้บริการที่ต้องการทันที ในระดับไม่เกินนาที ถ้าบริการไหนเราต้องโทรคุยต้องร่างสัญญา ต้องตกลงราคากันอันนั้นไม่ใช่ cloud แล้ว
- สำคัญที่สุดคือต้องมี rapid elasticity คือความยืดหยุ่นอย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่นอย่างรวดเร็วที่ว่าคือเราความสามารถเพิ่มหรือลดทรัพยากรที่เราต้องการจะใช้ทันที ที่ต้องการแล้วให้ผลตอนนั้นเลยด้วย ธุรกิจที่เอาประโยชน์ตรงนี้ไปใช้ได้มากและเห็นชัดที่สุดเลยคือ เกมส์ออนไลน์ คือจะให้บริการเกมส์ออนไลน์ได้ผู้ให้บริการก็จะต้องมี Server อยู่ใช่ไหมละ ทีนี้ธรรมชาติของเกมส์ออนไลน์จะเหมือนๆกันหมดคือ เมื่อตอนเกมส์เปิดใหม่ๆทุกคนจะแห่เข้าไปเล่นกันเต็มไปหมด ทีนี้ถ้าเป็นแบบเดิมที่ผู้ให้บริการเกมส์ออนไลน์จะต้องมีทรัพยากรเตรียมเอาไว้ให้เพียงพอกับการใช้งาน ที่เยอะที่สุด ย้ำว่าต้องเตรียมให้พอกับจำนวนคนที่เยอะที่สุด ซึ่งเอาจริงๆเรื่องแบบนี้ก็คาดการณ์ยากมาก สุดท้ายสิ่งที่เกิดคือการ over provisioning คือต้องเผื่อเอาไว้เยอะๆ เพื่อให้ระบบตัวเองไม่ล่ม ปัญหาคือ เมื่อเวลาผ่านไปคนเล่นเกมส์ก็ลดลงเรื่อยๆ ทรัพยากรที่ซื้อมาจะเอาไปคืนร้านก็ไม่ได้เสียแล้ว กลายเป็นต้นทุนจมของผู้ให้บริการเกมออนไลน์ไป ซึ่งด้วยความสามารถ rapid elasticity ของ cloud ทำให้ผู้ให้บริการเกมส์ออนไลน์สามารถเพิ่มหรือลก ทรัพยากรที่จะให้บริการลูกค้าจองตัวเองได้ตามที่ต้องการเลย แน่นอนว่าข้อดีคือระบบไม่ล่มตอนที่มีคนเล่นเยอะๆ และเมื่อคนเล่นน้อยก็สามารถลดทรัพยากรลงได้ ซึ่งจะไปผูกพันกับคุณสมบัติที่ 4 คือ
- Pay as you go คือใช้เท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้นอันนี้ก็ตรงตัวเลย คือเราจ่ายเท่าที่ใช้งาน ม่ต้องจ่ายส่วนเกินทำให้เราสามารถ optimize เรื่องของค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่ใช้งานจริงได้
- และสุดท้ายคือ Measure service อันนี้ง่ายๆคือต้องวัดได้ว่าใช้ไปเท่าไหร่ และต้องแม่นยำเชื่อถือได้
ถ้านั้นถ้า service ไหนมีคุณสมบัติครบ 5 อย่าง อย่างที่ว่ามามันก็คือ Cloud นั่นเอง และเอาเข้าจริง Cloud ที่ว่าอาจจะเป็นระบบที่องค์กรหรือบริษัททำขึ้นมาใช้งานเองก็ได้นะ ขอแค่มีคุณสมบัติตามที่ว่ามานี่แหละถือว่าเข้าเค้าเป็น cloud ทั้งหมดเลย
ไม่รู้มีประโยชน์อะไรหรือเปล่า แต่เอาหนะช่วงศัพท์ IT ประหลาดนี่ดีที่ไม่ต้องเตรียมตัวมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สอนอยู่แล้ว เอามาพูดได้เลยและคงทำได้เรื่อยๆ