Podcast Stupid Tourist EP : (12/100) ว่าด้วยเรื่องของทาก (land leech)

Posted by

ทาก ภาษาอังกฤษเรียก land leech
หากเดินป่าไทยแล้วยังไม่เคยเจอทากแปลว่าคุณยังไม่ได้สัมผัสรสชาติแห่งป่าไทย
สำหรับผมครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับทากคือตอนที่ไปเดินป่าระยะไกล ที่ต้องใช้เวลาถึง 5 วัน
ซึ่ง ณ เวลานั้นผมเคยแค่ได้ยินชื่อของมันเท่านั้น ดังนั้นการป้องกันตัวจากทากของผมเท่ากับ 0 คือใส่รองเท้าแตะและไม่ใส่ถุงเท้าไปเดินป่า
แล้วที่ที่ผมไปเดินนั่นคือ เทือกเขาที่ชื่อว่า หลังคาตึก ซึ่งไปหนึ่งในเทือกเขาที่ยาวและยากลำบากมากแห่งหนึ่งในภาคใต้
ถ้าใครเคยเดินป่ามาบ้างจะได้ยินกิติศัพท์ของป่าใต้มาเป็นอย่างดีว่า ฝนตก เละเทะ และทากเยอะมากกก

ถ้าใครยังไม่เคยเห็นทาก แนะนำให้ไปค้นคำว่า ทากใน google ได้เลยหน้าตามันจะคล้ายๆไส้เดือนที่ตัวสั้นกว่า ตัวเมือกๆหยึยๆ ใครเกลียดหนอนน่าจะเกลียดมันด้วย
เจอครั้งแรกคือการมาถึงโดยไม่รู้ตัว คือการโดนทากกัดนี่มันแทบจะไม่สามารถรู้สึกได้เลยนะ คือมันไม่เจ็บไม่รู้สึกอะไรเลย
รู้ตัวอีกทีคือมีเส้นดำๆกัดเราที่ข้อเท้าเรา พอดึงออกเลือดมันก็ไหลออกมาเรื่อยๆไม่หยุดซักที ครั้งแรกที่โดนกัดรู้สึกอยากจะกรี้ดดด มันคืออะไรหยึยๆ ดำๆ พองๆ และเลือดที่ไหลอาบ
แต่ไม่ได้ ลูกผู้ชายจะมาเสียฟอร์ม กรี้ดไม่ได้ ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ดึงมันออกแบบแมนๆ
แถมพอจะดึงออกมันก็ดึงออกยากมากเพราะฝนตกและมือเราเปียก เรียกว่าทุลักทุเลอยู่นานกว่าจะดึงออกได้ เมื่อดึงออกได้ มันก็ดูดที่มืออีกสะบัดก็ไม่หลุด
ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าทำยังไงแต่เหมือนชักมีดออกมาตัดมันซึ่งก็ตัดยากมาก เพราะตัวมันเหนียวมาก ต้องเอาตัวมันไปทาบกับต้นไม้แล้วตัดมันหลายๆครั้งถึงจะขาด

จะว่าไปทางกายภาพของทากที่มันมหัศจรรย์มากเลยนะคือทางกายภาพมันทนทานมากจะทุบจะตีมันแค่ไหนก็ดูเหมือนมันไม่เป็นอะไรเลย
หลังจากโดนกัดครั้งแรกก็มีครั้งที่สอง สาม สี่ ห้า ถึงร้อยตามมาติดๆ ปรากฏว่าที่ที่เราต้องเดินผ่านนั้นเต็มไปด้วยทากมากมายหลาย หมื่น
ใช่ครับ หลายหมื่นนี่น่าจะเป็นตัวเลขประมาณที่น้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำไป เรียกว่าทุกๆการก้มมองไปที่พื้นเราจะเจอทากมากมาย ชูช่อมองหาเหยื่อตลอด
และผลลัพธ์คือ ทั้งขาของผมเต็มไปด้วยเลือด เลือด และเลือด!!! อาบไปทั่วขาและรองเท้าจนเหนอหนะไปหมด จนกระทั้งกลายเป็นความชินชา
ประมาณการคร่าวๆว่าคราวนั้นผมน่าจะโดนทากกัด หลายร้อยครั้ง …..

หลังจากครั้งนั้นพอกลับมาถึงบ้านก็ตั้งหน้าตั้งตาหาข้อมูลเกี่ยวกับทาก เพราะมันคือความมหัศจรรย์มาก แล้วก็เก็บไว้จนเอามาเล่าวันนี้แหละ
ทากไม่ได้มีแค่เมืองไทย เชื่อกันว่าต้นกำเนิดของทากอยู่ที่มาดากัาก้า แต่ก็มีแพร่กระจายไปหลายๆที่ในโลกทั้งอินโด ญี่ปุ่น อินเดียโดยทากที่ค้นพบมีมากกว่า 60 สายพันธุ์
และยังมีการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ ในบ้านเราเท่าที่พบเจอและเราเรียกขานกันแบบไม่มีความรู้ตามประสานักเดินป่าธรรมดา เราจะเรียกว่าทากน้ำตาล กับทากหลังเขียว
ตามลักษณะทางกายภาพของมัน ทากน้ำตาลจะอยู่ตามพื้นดินเดินด้วย sucker ทั้งหัวและท้ายของมันโดยการใช้ด้านนึงเกาะพื้นไว้แล้วยึดตัวไปข้างหน้าแล้วจึงใช้อีกด้านดูดพื้นไว้เช่นกัน
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้านที่ใหญ่กว่าคือตูดของมันส่วนด้านที่เล็กกว่าคือหัว หัวจะเป็นส่วนที่ใช้ในการดูดเลือดส่วนตูดมีไว้สำหรับการยึดเกาะ
ทากจะ detect เหยื่อของมันด้วยการสั่นสะเทือน และความร้อนดังนั้นเพื่อการรับสัมผัสที่ดีมันจะเอาตูดเกาะพื้นแล้วยืดด้านหัวมันไปมาในอากาศเพื่อรับสัมผัสหาเหยื่อ
ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าชูช่อที่ผมใช้ไปก่อนหน้านี้ ถ้ามองเข้าไปในแผลเราจะพบว่าแผลที่เราโดนทากกัดมีลักษณะแผลเป็นพันเขี้ยวรูปสามเหลี่ยม อันนี้ที่เห็นชัดเพราะเคยเอากล้องขยายมาส่องดู
เมื่อเจอเหยื่อก็จะค่อยๆไปเกาะติดกับรองเท้าก่อนแล้วค่อยๆ คลืบคลานหาจุดที่จะกัดดูดเลือดต่อไป

โดยทั่วไปทากมักไม่กัดเราโดยทันทีและจะค่อยๆละเมียดละไมหาจุด ที่อ่อนไหว น่ากินแล้วจึงลงมือดูดเลือด จุดที่ทากชอบดูดคือง่ามนิ้วเท้า นิ้วมือ เท้า เอว คอ รักแร้ สะดือ ผมว่าแม่งจริงๆมันชอบกัดทุกส่วนนั่นแหละ
เพียงแต่มันสะดวกที่ไหนเท่านั้นเอง ผมเคยเจอทากรุมกัดกันเป็นครอบครัวเป็นวงกลมรอบพื้นที่เดียวกัน เจอทากบางตัวกัดซ้ำแผลเก่าที่ตัวอื่นกัดไว้ก่อน
ที่ประหลาดคือ ช่วงแรกๆผมไม่เคยโดนทากกัดที่สะดือเลย แต่หลังจากโดนกัดครั้งเดียวทากก็พยายามคืบคลานมากัดที่สะดือตลอด ซึ่งมันเจ็บมาก หลังๆกลายเป็นความหวาดระแวง ว่ามันจะกัดอีกจนต้องเอามือไปลูบๆอยู่หลายครั้ง

เวลาทากกัดมันจะปล่อยสาร สารฮีสตามีนซึ่งทําหน้าที่ช่วยกระตุ้นหลอดเลือดให้ขยายตัว และรู้สึกชา และนอกจากนี้มันยังปล่อยสารฮีรูดีน ซึ่งมีคุณสมบัติต้านทานการแข็งตัวของเลือด ทําให้เลือดไม่หยุดไหล
เลยเป็นที่มาของอาการเลือดไหลไม่หยุดหลังจากโดนทากกัดนี่แหละ แต่เมื่อปล่อยไว้นานๆเลือดก็จะหยุดไปเองการติดพลาสเตอร์ไม่ช่วยให้เลือดหยุด แต่อาจจะช่วยเรื่องของการปิดปากแผลไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายๆ
ปกติเท่าที่เจอก็ราวๆ 20 นาทีถึง ชั่วโมงเลือดจังหยุดไหล แต่ก็เคยเจอบางคนที่ไหลอยู่ 2 ชั่วโมงเหมือนกัน

เมื่อทากดูดเลือดจนอิ่มมันจะขยายตัวใหญ่กว่าขนาดเดิมของมัน 2 -3 เท่าเรียกว่าตัวอิ่มพองเลยทีเดียวแล้วมันจะหลุดไปเอง เพื่อกลับไปวางไข่เกณฑ์พลลูกหลานมันมาแดกบุฟเฟ่ต์อีก
ถ้ามันยังเพิ่งกัดหรือยังไม่อิ่ม จริงๆเค้าแนะนำให้อย่าดึงออกเพราะจะทำให้แผลเปิดกว้างเสี่ยงต่อเชื่อโรคได้ง่าย ให้เอาสารเคมีเช่นแอลกอฮอล์ เกลือ หรือไฟลนก็ได้ มันจะหลุดไปเองซึ่งจะนิ่มนวลกว่าการดึงออก
แต่นั่นแหละในป่าส่วนใหญ่ไม่ได้มีเวลาประณีตขนาดนั้น เรามักต้องเดินแข่งกับเวลาและระยะทางการดึงออกเลยเป็นตัวเลือกที่ทำอยู่อย่างเสมอๆ

ส่วนทากอีกชนิดนึงที่เราเรียกว่าหลังเขียวนั้นมักจะอยู่ตามใบไม้ต้นไม้ พวกนี้จะรอโอกาสที่เราเดินผ่านแล้วเกาะติดมาส่วนการดูดเลือดก็เหมือนกับพวกทากน้ำตาลทุกประการ

ทากทั้งหลายเรามักจะเจอมันได้ในที่ชื้นเหตุเพราะทากหายใจทางผิวหนัง ผิวหนังเลยต้องชื้นอยู่เสมอถ้าเราทำให้ผิวหนังมันแห้งได้มันจะอ่อนแรงลงและตายไปเอง นั่นเป็นสาเหตุที่เรามักจะเจอทากอยู่ในที่ชื้นเสมอ
ถ้าถึงหน้าแล้งมันจะมุดตัวลงไปใต้ดินลึกๆที่มีความชื้นสูงกว่าพวกนี้สามารถจำศีลอยู่ได้ถึง 5 – 6 เดือนเลย
นอกจากความชื้นแล้วเลือดก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทากสามารถดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นในบริเวณที่มีทากจะต้องมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมผ่านไปผ่านมาบ้าง อาจจะไม่ต้องสัตว์ป่าก็ได้นะส่วนใหญ่ที่เจอในไทยเราที่ทากเยอะๆ
มักเป็นที่ที่ชาวบ้านเลี้ยว วัว ควาย มากกว่าส่วนถ้าในป่านี่ไม่ต้องพูดถึง หมูป่า สมเสร็จ เก้ง ล้วนเป็นอาหารชั้นดีของมันด้วย

แล้วป้องกันยังไงดี?
ง่ายที่สุดคืออย่าให้มันกัด ส่วนใหญ่ที่เห็นคือเราก็จะมีถุงกันทาก ซึ่งจะเป็นพวกผ้าที่เส้นใยทอกันแน่นๆ ถุงเท้าธรรมดาไม่สามารถป้องกันทากได้เลย หรือขากางเกงก็เช่นกัน ป้องกันไม่ได้
โดยถุงกันทากนี้มันจะยาวมาเกือบๆถึงเข่าคล้ายๆ ถุงเท้านักฟุตบอล แต่เป็นรุ่นเก่าจะทำด้วยผ้าดิบแล้วร้อยเชือกมัด ซึ่งจากประสบการณ์ส่วนตัวเห็นว่าแบบนี้ไม่ดีเลย เพราะเวลาเดินไปป่า เชือกจะไปเกี่ยวกับกิ่งไม้ใบไม้แล้วหลุด
ทำให้ถุงกันทากย้วยลงมาแล้วก็ไม่กันทากต้องคอยผูกใหม่เสมอๆ ถุงกันทากแบบนี้เราจะเจอขายตาม อช. เยอะอย่างภูกระดึงเป็นต้น
ที่แนะนำเป็นพวกถุงเท้ากันหอยเชอร์รี่ที่เป็นผ้ามันๆ หรือผ้าประดาน้ำพวกนี้พอใส่แล้วมันจะยืดรัดกับเท้าของเราไปเลย ซึ่งสะดวกกว่ามาก และซักทำความสะอาดง่ายกว่ามากแถมสีสันก็สดใสงดงาม ถ่ายรูปแล้วดูดีด้วย
แต่นั่นแหละการมีถุงกันทากไม่ได้เป็นการรับประกันว่าคุณจะไม่ถูกทากกัดเพราะเจ้าพวกนี้จะค่อยๆ กระดึ้บๆ มาจนเลยกางเกงของเราแล้วเข้ากัดแถวๆ เอวแทน
แต่อย่างน้อยเราอาจจะยังมีเวลาสังเกตุเห็นมันและปัดออกได้ทัน แน่นอนว่าการใส่ถุงกันทากทำให้เปอร์เซ็นต์การถูกทากกัดลงลงอย่างแน่นอน
อีกอย่างทากพวกหลังเขียวที่กล่าวไปก่อนหน้านี้เวลาติดมาที่ตัวเรามันจะติดมาทางเสื้ออยู่แล้วเพราะมันเกาะตามใบไม้ ดังนั้นถุงกันทากก็ไร้ค่าไปเลย
บางคนอาจมีความเชื่ออย่างใส่ยาฉุน ใช้น้ำยากันยุง หรือน้ำมันมวยประพรมตามขากางเกง พวกนี้อาจจะช่วยป้องกันได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่มันมักอยู่ได้ไม่นานเพราะเรามีเหงื่อ มีฝน มีการเดินข้ามน้ำ สารเหล่านี้สามารถถูกชะออกไปได้อย่างรวดเร็ว
จริงๆเคยไปอ่านบทความของเมืองนอกเค้าบอกว่าใช้ DEET 65% โป๊ะไว้ตามเสื้อผ้าจะช่วยได้แต่นั่นแหละคงไม่มีอะไรสู้ฝนและเหงื่อได้จริงๆ
จริงๆตอนนั้นเจอว่ามีงานวิจัยที่สกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากพวกสมุนไพรไทยมาทำเป็นยาป้องกันทากซึ่งงานวิจัยบอกว่าได้ผล 100% และอยู่ได้นาน 8 ชั่วโมงด้วยแต่ด้วยความขี้เกียจเลยไม่ได้ไปอ่านต่อ แต่ถ้าไม่มีขายก็ดับฝันไปแค่นี้แหละ

ที่เคยเจอแปลกๆก็มีทากเข้าไปอยู่ในกระเป๋าเสื้อแล้วที่หน้าอก แบบกัดๆหลุดๆ คือพอเสื้อแกว่งมันก็หลุดพอได้จังหวะมันก็กัด พอถอดเสื้อมาทากตัวเดียวแต่กัดเป็น 5-6 แผล
หรือที่เจอแปลกๆอีกอันก็ทากไปซ่อนตัวอยู่ในสายนาฬิกาแล้วแอบกัดข้อมือแล้วมองหายังไงก็ไม่เจอ

ทีนี้ถ้าโดนกัดจะทำยังไงดี จริงๆก็บอกว่าทำใจเดี๋ยวมันก็หยุดของมันเอง หลังโดนกัดจะมีอาการคันไปอีกหลายวันและอาจมีน้ำเหลืองไหลออกมาจากแผล อันนี้เป็นเรื่องปกติ
บางครั้งเท้าอาจจะบวมด้วยมันจะค่อยๆหายไปเอง เท่าที่ไปค้นจากหนังสือ Manson’s Tropical Diseases พบว่าไม่มีบันทึกว่าทากมีเชื้อหรือโรคอะไรเป็นหลักอาการที่เขียนไว้คือให้ระวังการขาดเลือด
แต่ที่น่ากังวลคือปากแผลขนาดใหญ่ที่อาจจะนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมากกว่า

ทากนี่อาจจะพบเจอได้เกือบทุกป่าในไทยเลยขึ้นอยู่กับฤดูกาล แต่ที่มีชื่อเสียงมากน่าจะเป็นป่าทางใต้ที่ชุ่มชื้นตลอดเวลา และป่าน่านที่มีวัวเยอะมาก
ถ้าพบเจอกับทากคราวหน้าอย่างน้อยคุณผู้ฟังก็น่าจะได้รู้จักมันบ้างแล้วละ ใครมีประสบการณ์ทากมันๆ มาเล่าก็ยินดีนะ เราเริ่มเหงาเราอยากคุยกับคนบ้างแล้วละ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s