Podcast Run as I go EP: (10/100) 35 ข้อควรรู้ก่อนไปลอง Ultra Trail

Posted by

 

https://anchor.fm/suksit-kwanoran/episodes/Run-as-I-go-EP-10100-35–Ultra-Trail-e3ge2a

1. เอาตัวให้รอด ไม่ได้เร่งรีบ การเดินเป็นเรื่องปกติของอัลตร้ามาราธอน
2. จุดให้น้ำใน Ultra marathon มักไกลกันมาก อย่าคาดหวังว่าจะมีจุดให้น้ำทุกๆ 2 กิโล
อย่างในรายการใหญ่ๆในโลก จุดให้น้ำที่ไกลที่สุดยาวไกลถึง 28 กิโลเมตร
3. การวิ่งไปตามทาง อาจไม่ใช่ทางที่ดีเสมอไป ในอัลตร้าเทรล เครื่องหมายบอกทางเป็นเสมือนจุดยึดเหนี่ยวอย่างหนึ่ง เราต้องมีสมาธิกับสนามถ้าไม่เห็นเครื่องหมายบอกทางนานเกินไป หลายๆครั้งการเดินกลับไปทางเดิม แม้ว่ามันจะชัน
มันจะไกล อาจเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
4. และอย่าหวังว่า GPS จะใช้ได้ดี ถ้าคุณหลุดออกจากเส้นทางแค่ 10 – 20 เมตรคุณอาจไม่เห็นความแตกต่างใน GPS เลยก็ได้ แต่จริงๆคือคุณหลงแล้ว
5. เลี้ยงหัวใจเอาไว้อย่าไปรุนแรงกับมันเกินไป ถ้าให้มันอยู่ในโซน 1 โซน 2 ได้ยิ่งดี
6. กล้ามเนื้อก็เช่นกัน วิ่งให้ช้าที่สุด ให้สบายที่สุด ถ้าคุณไม่ได้ซ้อมมาเพื่อแข่งขัน ทางลงเขาบางครั้งอาจจะไม่ใช่จังหวะให้เร่งเสมอไป กล้ามเนื้อ Hamstring เรามักไม่แข็งแรงขนาดนั้น
7. การวิ่ง 100 Km ครึ่งทางคือ 70 กิโลเมตร
8. วิ่ง 100 กิโล ไม่เท่ากับการวิ่ง 10 กิโล 10 ครั้ง
9. ระยะทาง 1 กิโลที่ระยะ 60 โลอาจยาวไกลเหมือน 10 กิโล
10. รวมถึงการขึ้นเขาชันๆด้วย ขึ้นเขาจนหน้ามืด แต่พอรู้ตัวเราเพิ่งเคลื่อนตัวมาได้ 200 เมตร
11. ทุกความผิดปกติสามารถเจอได้ในสนามแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารไม่ย่อย ปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน กินไม่ลง
ตะคริวขึ้นที่แปลกๆ อาเจียน แสบจากการเสียดสี เท้าพอง ข้อเท้าพลิก เจ็บกราม มือชา กล้ามเนื้อปวดร้าว และอื่นๆ
12. และระหว่างความทรมานนั้นก็แซมด้วยความสุข ความสนุก และบันเทิงเป็นระยะๆ เหมือนกับว่าเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบความเจ็บปวด หรือว่าใช่วะ
13. ถ้าคุณไม่ใช่แนวหน้า ไม่เคยมีคู่แข่งในสนามเทรล ทุกคนคือเพื่อน การวิ่งไปด้วยกันแม้เพียง 5 – 10 กิโลเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมจิตใจของเราให้ไม่เบื่อหน่ายเกินไปได้
หลายคนกลายเป็นเพื่อนสนิท หลายคนกลายเป็นคู่ชีวิต เพราะที่คือสถาณการณ์ที่พิสูจน์ความลำบาก ไม่ใช่ความสบายแน่นอน
14. เราจะได้เจอกับความมหัศจรรย์ของร่างกาย ที่สามารถทนทานกับความทรมานได้ยาวนาน ทำสิ่งที่ไม่คาดฝันได้ และการรีเซ็ตของร่างกาย
15. ศัตรูที่ร้ายที่สุดหลายครั้งอาจไม่ใช่ความเจ็บปวดแต่เป็นความง่วง ที่แทบทนไม่ไหว
16. แต่พอวิ่งเสร็จ เรากลับนอนไม่หลับ เพราะหัวใจและร่างกายยังทำงานอยู่
17. และบรรไดกลายเป็นความท้าทายของวันรุ่งขึ้น
18. การเกิดภาพหลอน หูแว่วเป็นสิ่งที่เกิดได้เช่นกัน
19. จงระวังการขาดน้ำ พอๆกับการได้รับน้ำมากเกินไป เพราะมันจะไปขัดขวางระบบย่อยอาหารของคุณ
20. จงหาอาหารที่เราสามารถกินได้สบายๆในสนามแข่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทดลอง ต้องเจ็บปวด บางคนกินข้าว บางคนกินขนมปัง บางคนกินได้แต่ธํญพืช ไม่มีสูตรสำเร็จในการกิน
21. เมื่อถึงจุดนึงคุณจะเลิกสงสัยว่า กินแล้วเดินวิ่งได้ไหม อัลต้รามาราธอนเนอร์ทุกคนสามารถทำได้
22. แม้ไม่อยากกินก็ต้องกิน ร่างกายอาจเตือนเราช้าเกินไป วินัยในการกินในสนามสำคัญพอๆกับวินัยในการซ้อม
23. เราไม่มีวันรู้เลยว่า เช้าวันปล่อยตัวเราจะเป็นยังไง บางครั้งเราอาจะสดใสแช่มชื่น บางครั้งเราอาจอ่อนเปลี้ยไร้เรี่ยวแรง โดยอาจจะไม่เกี่ยวกับการกิน การนอนเลยก็ได้
24. แม้แต่การฟังเพลงก็อาจจะไม่ไพเราะอีกต่อไป เมื่อเราวิ่งมาอย่างยาวนาน เพลงอาจกลายเป็นสำเนียงที่น่ารำคาญหูก็เป็นไปได้
25. การพัฒนาแค่การวิ่งไม่เพียงพอกับการวิ่งอัลตร้ามาราธอน คุณจะต้องฝึกกล้ามเนื้อ core body ฝึกการใช้เทรคกิ้งโพล ฝึกการถอดเก็บเป้น้ำ เติมน้ำด้วย
26. ทุกอย่างที่ใช้ในวันแข่งไม่ควรเป็นของใหม่ ควรเป็นของที่คุ้นมือ เป็นของที่ใช้อยู่ประจำมีร่องรอยความทรงจำของเราอยู่ จะเข้ากับเราได้ดี เราไม่อยากทะเลาะกับอุปกรณ์ตัวเองในสนามแข่ง
27. น้ำหนัก 100 กรัมเมื่อผ่านไป 70 กิโลมันจะเริ่มหนักขึ้นๆ ถ้าเป็นไปได้เลือกของเบาๆไว้ก่อนดีกว่า
28. การนอนคือยาวิเศษ แต่นอนนานเกินไปอาจกลายเป็นยาพิษได้ การนอนที่ดูจะได้ผลดีที่สุดสำหรับผมคือการนอนราว 15 – 20 นาที
29. เวลาช่วงกลางการแข่งขันจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่ระยะของเราอาจไม่ค่อยเพิ่มมากนัก ตรงข้ามกับช่วงท้ายที่ระยะเวลาดูช่างยืดยาวแต่ระยะกลับดูเหมือนเพิ่มขึ้นง่ายกว่า นี่อาจเป็นทฤษฏีสัมพันธภาพ
30.ไม่มีทางที่ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางในครั้งแรก มันจะต้องผิดพลาด เจ็บปวด ทบทวน และแก้ไข เมื่อหลายๆครั้งผ่านไปเราอาจจะรู้ว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็น
31. สติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แม้ว่ามันจะหายากมากแค่ไหนก็ตาม เพราะการพลาดเพียงครั้งเดียวอาจหมายถึงการต้องออกจากสนามหรือแม้แต่เสียชีวิต อันนี้เรื่องจริงไม่ได้ล้อเล่น
32. การรู้เส้นทางล่วงหน้า ศึกษาเส้นทางมาก่อน ได้ลองวิ่งก่อนจะช่วยให้เราประเมินสนามได้ดีขึ้น
33. การฝึกซ้อมของแต่ละคนไม่มีทางเหมือนกัน ต้องลองเองเรียนรู้เอง และปรับให้เข้ากับตัวเอง
34. และถ้าไม่ไหวอย่าฝืนเรายังสามารถมาวิ่งที่นี้เมื่อไหร่ก็ได้ ตราบใดที่เราไม่ได้บาดเจ็บถาวร การ DNF เป็นส่วนหนึ่งของสนามเช่นเดียวกันกับการซ้อม การวิ่ง จงทำใจซะ
35. ระหว่างเส้นทางแม้จะทรมานมากมายแต่เมื่อจบได้ คุณจะมองย้อนกลับมาแล้วคิดว่า “เฮ้ย มันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้นนี่หว่า….”

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s