Heartsaver (บันทึกเรื่องการกู้ชีพพื้นฐาน)

Posted by

พอดีเมื่อราวๆ เดือนที่แล้วได้ไปอบรมหลักสูตรชื่อ Heartsaver First Aid CPR AED ของ American Heart Association (AHA) มา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ aha
AHA เป็นสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา เป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร ที่ส่งเสริมการดูแลหัวใจที่ถูกต้องและพยายามที่จะลดการเสียชีวิตที่เกิดจากโรคระบบหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

หลักๆก็ง่ายๆคือการทำ CPR อย่างถูกต้อง การปฐมพยาบาลผู้ป่วยด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่ถูกต้องและการใช้งานเครื่อง AED นี่แหละ….

จะว่าไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมเข้ารับการอบรมอะไรทำนองนี้เท่าที่จำได้อบรม CPR นี่อย่างน้อย 3 ครั้งแล้วส่วนการใช้งาน AED เคยอบรมไปครั้งนึงทุกครั้งก่อนหน้านี้เป็นคอร์สฟรีทั้งหมด คราวนี้เลยอยากมาลองดูว่าถ้าเสียเงินเรียนมันจะต่างกันยังไงบ้าง

ปรากฏว่า “คุ้มว่ะ” ไอ้ที่เรียนๆมาก่อนหน้ามันมีปัญหาเรื่องเวลาและเครื่องไม้เครื่องมือต่อคนที่ค่อนข้างจำกัด แถมส่วนใหญ่ไม่ค่อยอธิบายสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่เราต้องทำ มารอบนี้วิทยากรจัดเต็มพอสมควรเลยเอามาบันทึกสำคัญๆไว้หน่อยกันลืม

หลักๆแล้วหลักสูตรนี้ผมแบ่งเองเป็น 2 ส่วนคือ

  1. ส่วนของการทำ CPR และใช้เครื่อง AED เรียกว่าน่าจะเป็นส่วนหลักของคอร์สนี้เลยก็ว่าได้ อันนี้เบิกเนตรได้หลายเรื่องอยู่เหมือนกัน
  2. ส่วนของ First Aid จะว่าไปส่วนนี้คือเรื่องใหม่ทั้งหมด เรื่อง First Aid นี่บ้านเราไม่ค่อยสอนจริงๆนะส่วนใหญ่เดี๋ยวนี้นิยมมาให้ความรู้เรื่องของ CPR มากกว่า เอาเข้าจริงๆแล้ว First Aid ก็อาจจะเป็นส่วนสำคัญมากส่วนนึงเหมือนกัน

สิ่งที่ชอบในคอร์ทนี้ : ความรู้ใหม่ๆที่เป็นมาตรฐานค่อนข้างเยอะ เป็นเหตุเป็นผลสามารถเอาไปใช้ได้
สิ่งที่ไม่ชอบ : มันมี step ในการทำงานที่ตลกๆ ซึ่งเอาจริงๆก็เป็นบริทแบบสากลมากๆ ซึ่งมันก็สมควรใช้นะ แต่ถ้าไปใช้จริงคงตลกๆหน่อย


ก่อนจะไปถึงเนื้อหาทั้งหมด วิทยากรแนะนำถึงสิ่งที่เรียกว่า Chain of survival

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ survival chain
แปลไทยเป็นห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต

คือให้ไล่ตาม step เหล่านี้ก่อนเลย คืออันดับแรก
เมื่อเจอคนหมดสติเริ่มต้นให้ปลุกผู้ป่วยก่อน เค้าอาจจะแค่นอนอยู่ก็ได้  ถ้าไม่มีสติก็….

“โทรหา 1669”

สารภาพตามตรงว่าก่อนจะเข้าคอร์สนี้จำเบอร์นี้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำคือจำได้แต่ 191 ซึ่งก็คงช่วยอะไรไม่ได้หรืออาจจะช้าเกินไป แต่พอหลังจากคอร์สนี้เบอร์ 1669 นี่เรียกว่าจำแม่นไม่มีวันลืมแน่นอน

สิ่งหนึ่งที่ดีมากที่ได้เรียนรู้จากคอร์สนี้อีกอย่างคือ

อย่าขอความช่วยเหลือลอยๆ !

ระหว่างการร้อง

“ใครก็ได้ช่วยโทรหา 1669 หน่อยให้เอาเครื่อง AED มาด้วย”

กับ

“เรา : คุณ ใช่คุณนั่นแหละคุณชื่ออะไร?
ไทยมุง : ชื่อสมชายครับ
เรา : คุณสมชายโทรหา 1669 เรียกรถฉุกเฉินและให้เอาเครื่อง AED มาด้วย “

จะเห็นได้เลยว่าการตอบสนองนั้นต่างกัน ถ้าเราพูดลอยๆจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า

Bystander Effect คือการที่เราไม่ยอมทำอะไรเพราะคิดว่าเดี๋ยวคนอื่นก็ทำเราไม่อยากไปยุ่งไปอยากไปทำให้เป็นภาระ กังวลว่าเราทำถูกไหมทำดีหรือเปล่า

หลังจากนี้ก็ประเมินการหายใจของผู้ป่วย คือมีสองกรณีหลักๆเลยที่เราจะเริ่มทำ CPR คือ 1.ผู้ป่วยไม่หายใจ 2.ผู้ป่วยหายใจเฮือกเป็นระยะ นั่นแปลว่าการทำงานของหัวใจหรือระบบหายใจผิดปกติแล้ว

หายใจเฮือกน่าจะสังเกตุไม่ยากแต่การไม่หายใจนี่สิทำยังไง?
ในคลาสแนะนำให้ดูการประเพื่อมของหน้าอกและหน้าท้อง ดีกว่าการคลำชีพจรที่ถ้าไม่ชำนาญจริงอาจจะคลำผิดได้

ถ้ามีอาการอย่างที่ว่ามาข้างต้นก็สามารถเริ่มทำ CPR ได้

แต่ก่อนจะเข้าใจเรื่อง CPR มาเข้าเรื่องของการทำงานของหัวใจ

วิทยากรเริ่มด้วยคำถามที่น่าสนใจว่า

“หัวใจทำงานเพราะอะไร?”

ในหัวตอบว่ามันคือมัดกล้ามเนื้อลายและเรียบที่บีบตัวแต่นึกคำว่ากล้ามเนื้อลายไม่ออก (วิทยากรเป็นคนสิงค์โปร์) แกก็ชิงตอบก่อนว่าเป็นเพราะไฟฟ้า

เออวะ จริงด้วย! ลืมไปเลย

ดังนั้นการที่หัวใจไม่ทำงาน เพราะไม่มีไฟฟ้ามาที่หัวใจนี่แหละ!

หัวใจหยุดเต้นจึงมาจาก 2 อาการนี้คือ

  1. Sudden Cardiac Arrest (SCA) เป็นอาการที่ระบบไฟฟ้าที่ว่ารวนไม่สามารถไปควบคุมหัวใจให้เต้นปกติได้ ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงส่วนอื่นๆของร่างกาย

แล้วมันเกิดได้ยังไง? : มีได้หลากหลายตั้งแต่ โดนไฟช็อต, การใช้ยา, อาการแพ้, จมน้ำ ไปจนถึงฝุ่นควัน

แบบนี้แหละคือเป้าหมายที่เราจะทำ CPR และใช้เครื่อง AED

2. Acute Myocardial Infarction (AMI) เป็นอาการที่เราเรียกว่าหัวใจวาย พวกนี้สาเหตุจะเกิดจากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาด Oxygen

ในคลาสผู้สอนบอกว่านี่เป็นโรคที่เกิดจาก life style เพราะส่วนใหญ่เกิดจากมีไขมันไปอุดตันในเส้นเลือดทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่พอ พวกนี้เมื่อเกิดอาการหลายครั้งยังสามารถสื่อสารได้ อาจมีอาการเหงื่อออก อาเจียน เจ็บกราม เวียนหัว

อย่างหลังนี้ไม่สามารถ CPR หรือใช้ AED ช่วยได้ ต้องพบแพทย์ทำบอลลูนอย่างเดียว

สิ่งที่ในคลาสเน้นมากคือ Quality CPR คือการทำ CPR แบบมีคุณภาพ ซึ่งมีกฏง่ายๆ3 ข้อคือ

กดลึก ปล่อยสุด อย่าหยุด กดร้อย

  1. กดลึกคือกดตรงปลายกระดูกหน้าอกเลื่อนขึ้นมาสองนิ้ว หรือเอาง่ายๆกะระหว่างหัวนมลงมานิดหน่อย ให้กดลึกประมาณ 5 เซ็นติเมตรคือกดแบบลงยุบไปเลยอ่ะ
  2. ปล่อยสุด คือให้ปล่อยให้สุดเพื่อจำลองการบีบตัวของหัวใจ
  3. อย่าหยุดคือให้กด 100 – 120 ครั้งต่อนาที กด 30 ครั้ง ต่อรอบ (ใช้เวลาประมาณ 15 – 18 วินาที) สลับเป่าปาก 2 ครั้งให้เป่าจนหน้าอกยก ราวๆ 1 วินาที และสำคัญคือห้ามหยุดปั้มหัวใจเกิน 10 วินาที

ได้หมดนี่ถือว่าเราได้ Quality CPR ทำวนไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณชีพ เช่นมีการเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยหายใจได้เอง ซึ่งถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มทำ CPR ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะหลังจากหัวใจหยุดทำงานสมองจะขาดอ็อกซิเจนไปด้วยและถ้าสมองขนาดอ็อกซิเจน 4 นาทีเซลล์สมองจะเริ่มตาย

เอาจริงๆทำไปได้ซัก 4 – 5 รอบเราจะเริ่มเหนื่อยถ้ามีคนมาเปลี่ยนสลับกันจะดีมาก

หรือถ้าระหว่างนั้นมีเครื่อง AED มาก็ให้ใช้เครื่อง AED มาช่วย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ AED
หน้าตาประมาณนี้อาจแตกต่างไปตามแต่ยี่ห้อ

ตัวเครื่อง AED เป็นเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติด้วยระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่แล้วจะออกแบบมาให้ใช้งานง่ายที่สุดคือมีแค่ 2 ปุ่มกับ 2 แผ่นแปะ โดยแผ่นแปะก็แกะฟิล์มออกแล้วแปะตามรูปที่อยู่บนแผ่นเลย คือแผนนึงอยู่เหนือหน้าอกขวา อีกแผ่นอยู่ชายโครงซ้าย

แล้วกดปุ่มเปิด เครื่องจะทำการวิเคราะห์คลื่นหัวใจให้เองว่าจะต้องช็อคไฟฟ้าหรือเปล่า โดยหลักการทำงานเครื่อง AED จะไปมองหาคลื่นหัวใจที่สั่นผิดปกติถ้ามีเครื่องจะสั่งให้เราเคลียคนไม่ให้แตะตัวผู้ป่วย แล้วกดปุ่มช็อค หลังจากนั้นเครื่องอาจจะสั่งให้เราทำ CPR ต่อพร้อมจังหวะที่เครื่องกำหนดให้

ทำไปเรื่อยๆจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง ….. หรือจนกว่าจะมีสัญญาณชีพ

จริงๆหลักสูตรนี้มีเรื่อง First Aid ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้ tourniquet เพื่อหยุดเลือด การปฐมพยาบาลในกรณีโดนงูกัด ผึ้งต่อยและอื่นๆอีกมากมาย ไว้ว่างๆจะเอามาเขียนอีก

20190113_170345
เรียนจบก็ได้ certificate มาประมาณนี้ 

อย่างน้อยครั้งหน้าที่เจอคนหมดสติหวังว่าเราคงพอจะทำอะไรได้บ้างละหน่า…

 

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s