ห่างหายจากการเขียน ไปหลายวันอีกแล้ว
รอบนี้ไม่ได้ไปเที่ยวแต่ไปเผชิญกับวิกฤติการทางอารมณ์และงาน ที่อยู่ๆก็กระหน่ำเข้ามา
จนกระทั่งต้องยอมละเป้าหมายที่คิดจะเขียน blog ติดกันอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ไป….
แน่นอนจากที่เล่าไปข้างต้น มันประกอบไปด้วย 2 วิกฤติคือ 1.วิกฤติทางอารมณ์ที่ทำให้ผมตกอยู่ในความรู้สึกสิ้นหวังกับความรู้สึกไร้ค่าในตัวเอง 2.วิกฤติของงานที่เข้ามามากว่าจะใช้เวลาปกติทำให้มันเสร็จได้
แต่ระหว่างเส้นทางราว 3 วันอันเป็นมรสุมอันดำมืดนั้นมีเรื่องบางอย่างที่กระจ่างชัดขึ้นมาคือเรื่องของ
“ความเป็นมืออาชีพ”
ผมเข้าใจว่าพอพูดถึงสิ่งนี้กับตัวเองแล้วมันคงดูน่าหมั่นไส้มากกว่าน่าชื่นชม แต่ผมรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ…
“ไม่มีอารมณ์ทำงาน”
ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินคำข้างบนมาบ้าง หรืออาจจะเป็นคนพูดเสียเองด้วยซ้ำ และทุกครั้งที่ผู้พูดเอ่ยคำนี้มันน่าจะหมายความตามนั้นจริงๆ คือไม่อยากทำงานตอนนี้ หรือทำๆไปตามหน้าที่เพื่อที่จะส่งมอบงานออกไปให้จบๆ
ทำไมถึงไม่มีอารมณ์?
ส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากปัจจัยทั้งจากชีวิตของเราเองที่อาจจะกำลังเจอปัญหาอื่นๆอยู่ ปัญหาเรื่องสุขภาพ หรือแม้กระทั่งปัญหาเรื่องงานหรือที่ทำงาน
“มีแต่มือสมัครเล่นเท่านั้นแหละที่ต้องการอารมณ์ในการทำงาน
มืออาชีพเค้าทำงานเพราะมันคืองานเฟ้ย !”
นี่คือคำที่จู่ๆก็ผุดขึ้นมาตอนที่ทำงานไปเรื่อยๆในขณะที่จิตใจไม่พร้อมทำงานมากๆ ด้วยเวลาและทรัพยากรที่จำกัดมากๆ จู่ๆก็นึกอะไรออกมาได้หลายอย่างเลยเอามาสรุปเป็นเส้นทางแห่งความเป็นมืออาชีพฉบับของข้าพเจ้าเองดังนี้
- มืออาชีพ(Professional) ไม่ต้องการอารมณ์ในการทำงาน พวกเขาทำงานเพราะมันเป็นสิ่งที่เขาทำได้และทำได้อย่างดีด้วยโดยไม่ขึ้นกับปัจจัยภายใน ภายนอก อย่างอารมณ์หรือสถานที่หรือเวลา
- มืออาชีพทำงานตามมาตรฐานของตัวเองเท่านั้น พวกเขาไม่ยอมลดมาตรฐานการทำงานของตัวเอง แต่ก็ไม่ใช่ความเป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) นะ พวกเขายืดหยุ่นปรับผลลัพธ์ตามทรัพยากรที่มีเพื่อส่งมอบงานตามมาตรฐานที่เขาวางเอาไว้
- มืออาชีพไม่ได้รักหรือเกลียดงาน คนที่รักงานหรือมีความหลงไหลในงานนั้นดีแต่เขาไม่ได้เป็นมืออาชีพ เขาอาจกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสตีฟจ็อบแต่ไม่ใช่มืออาชีพ มืออาชีพมองงานว่ามันคืองานคือสิ่งที่เขาสามารถส่งมองคุณค่าออกมาจากผลงานนั้นๆได้ พวกเขาอาจชื่นชมผลงานของตัวเองแต่พวกเขาไม่ได้รักหรือเกลียดงานที่ตัวเองทำ
- มืออาชีพไม่ commit กับงานที่เขาทำไม่ได้ ความสามารถสำคัญของมืออาชีพคือพวกเขาประเมินได้ว่าจากทรัพยากรที่ได้รับพวกเขาสามารถทำงานนั้นได้สำเร็จตามมาตรฐานของตัวเองหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้พวกเขาจะไม่ยอมรับงานหรือให้คำมั่นสัญญาเด็ดขาด
- มืออาชีพให้เกียรติคนทำงานอื่นๆรวมถึงลูกค้าเสมอ พวกเขารู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานทุกคนนั้นคือส่วนที่ทำให้งานสำเร็จเป็นงานได้ เขาจะให้เกียรติผ่านการไม่เบียดเบียนผู้อื่น เช่นการตรงต่อเวลา การขอบคุณต่องานของผู้อื่น การเข้าอกเข้าใจในข้อจำกัดและความต้องการ
- มืออาชีพมองการวิจารณ์ว่าคือสิ่งที่มีคุณค่า งานที่ไม่ได้รับการติเตียนวิจาร์ณเลยเป็นงานที่ตายไปแล้ว พวกเขาไม่มีโอกาสพัฒนาขึ้นได้เลย ดังนั้นพวกเขามองคำวิจารณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่า พวกเขาแยกแยะการวิจารณ์งานออกจากการวิจารณ์ตัวตนของเขาได้ และเลือกเอาคำวิจารณ์ที่มีคุณค่าไปปรับปรุงพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
สุดท้ายนี้ข้าพเจ้าไม่ได้ต้องการจะบอกว่า มืออาชีพ(Professional) นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในงาน
คนที่ทำงานที่ทำงานตามอารมณ์อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
คนที่หลงไหลในงานอาจกลายเป็นคนที่ประสบความสำเร็จเปลี่ยนโลก
คนที่ส่งมอบงานเกินกว่ามาตรฐานอาจก้าวหน้าในอาชีพการงานเป็นมือหนึ่งในสายงาน
คนที่ยอมล้มเหลวลองทำสิ่งที่ตนทำไม่ได้อาจได้โอกาสดีๆในมือที่ผลักดันตนเองไปไกลกว่าที่ตนทำได้
คนที่มาสายอาจมีเวลาในการตัดสินใจหรือทำสิ่งต่างๆได้มากกว่าคนตรงเวลา
การภาคภูมิใจในงานโดยเอาตัวตนหลอมรวมเข้ากับงานอาจส่งมอบจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เข้าไปในงานได้
แต่มืออาชีพคือผู้ส่งมอบงานอย่ามีมาตรฐาน ที่เชื่อถือและไว้ใจได้ โดยไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดๆ นี่คือจิตวิญญาณของการทำงานแบบมืออาชีพ เป็นผู้คนซึ่งอาจจะไม่ได้โดดเด่นกว่าใครแต่เป็นคนที่สามารถคาดเดาและได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการออกมาได้อย่างแน่นอน