รอบนี้มาคุยเรื่องของเป้เดินป่าบ้าง จริงๆแนะนำให้ไปลองเองแต่ก็เอามาเล่าให้ฟังว่ามีแบบไหนบ้าง มาฟังกันนะครับ
หน่วยวัดของขนาดกระเป๋าจะมีหน่วยเป็นลิตรซึ่งใช้ในการบอกความจุโดย
18 – 24 ลิตรจะเรียกว่าเป้ Day pack เอาไว้ใช้ใส่ของสำหรับเดิน 1 วันโดยไม่ต้องนอนค้างอ้างแรม ควรมีอย่างยิ่ง เป้พวกนี้ราคาไม่แพงแต่ควรมีช่องสำหรับใส่ขวดน้ำด้านข้างด้วย เพื่อความสะดวกในการใช้งาน
ส่วนใหญ่เป้พวกนี้น้ำหนักเบามากอาจจะสามารถพับเก็บได้ ติดตัวไปไหนมาไหนก็สะดวกดี
30 – 45 ลิตรพวกนี้เป็นเป้มาตรฐานที่แนะนำให้ผู้หญิงใช้เหมาะกับการเดินป่าซัก 2 – 3 วันโดยไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ ไม่ค่อยมีที่แบกของกองกลางแต่สามารถพกพาอุปกรณ์ยังชีพไปได้ครบพอเอาตัวรอดได้ ส่วนใหญ่เป้แบบนี้น้ำหนักไม่เกิน 1.5 กิโลกรัมสามารถแบกของได้ราวๆ ไม่เกิน 15 กิโลกรัมเช่นกัน
เป้พวกนี้ถ้าชอบเดินทางบ่อยๆก็สามารถใช้เป็นเคบินไซด์ที่เอาขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องโหลดคล่องตัวและประหยัดเงินดี หลังๆมาผมเองก็ใช้เป้ขนาดพวกนี้ในการเทรคต่างประเทศบ่อยๆ
50 – 65 ลิตรพวกนี้สามารถแบกอุปกรณ์ตั้งแคมป์ไปได้ครบคือสามารถมีถุงนอนใหญ่ๆ แผ่นรองนอน เต้นท์ เปล ฟรายชีท กราวนด์ชีท ใส่ไปในกระเป๋าเพิ่มได้ด้วยรวมถึงอุปกรณ์ทำอาหารเล็กน้อย หรือแม้แต่ช่วยทีมในการแบกของกองกลางเล็กๆน้อยๆได้ พวกนี้คนมักเรียกว่าเป็นเป้ hiking หรือ trekking มักมีโครงสร้างโหลดน้ำหนักแต่ไม่แข็งมากทำให้สามารถใส่น้ำหนักได้อยู่ราวไม่เกิน 20 กิโลกรัม
เป้กลุ่มนี้เหมาะกับการเดินทางหลายๆวันอาจจะ 3 – 5 วันได้สบายๆขึ้นอยู่กับชนิดของเสื้อผ้าที่เอาไปเดินทางด้วย
70 – 80 ลิตรกลุ่ม Backpacking พวกนี้เป็นกลุ้มบ้าพลังคือเน้นแบกระห่ำเหมาะกับการเดินทางไกลๆนานๆ นานสุดผมเคยเดินทาง 1 เดือนโดยไม่ต้องซักเสื้อผ้าระหว่างทางเลย พวกนี้ถ้าเอาเข้าป่าคุณคือทีมแบกตัวจริงสามารถแบกได้ตั้งแต่ข้าวสาร อาหารแห้ง/สด ยันหมูเป็นตัวๆ (ok อันนั้นก็เว่อร์ไป)
ตัวเป้อาจจะมีน้ำหนัก 2 – 3 กิโลกรัม แต่ก็แบกน้ำหนักได้เยอะมาก ผมเคยแบกถึง 30กว่ากิโลกรัมขึ้นภูสอยดาวยังมีที่เหลืออีกนิดหน่อย

มาดูเรื่ององค์ประกอบของเป้บ้าง …
นอกจากเป้กลุ่ม Day pack แล้วเป้เดินป่าส่วนใหญ่จะมีตัวปีกรับน้ำหนัก เอาไว้ใช้รัดเอวเพื่อถ่ายน้ำหนักลงที่สะโพก ฝรั่งเค้าเรียกว่า Hipbelt ส่วนนี้สำคัญมากเวลาเลือกต้องมีขนาดที่โอบรัดสะโพกเราได้พอดีไม่หลวมไป
อีกอย่างที่ต้องสนใจคือสายสะพายบ่า มีแบบนุ่มกับไม่นุ่ม แบบนุ่มจะซับน้ำหนักและเหงื่อมากกว่าข้อดีคือมันนุ่มไม่ทำร้ายไหล่เรามากในขณะที่ถ้าเดินหลายๆวันมันก็อาจเป็นแหล่งเพาะแบคทีเรียอย่างดีทำให้เราคันยิบๆและเป็นโรคผิวหนังได้ ส่วนแบบบางนั้นไม่ข้อเสียคือเจ็บใหญ่แต่ไม่ค่อยซับเหงื่อแบคทีเรียก็จะโตยากหน่อย
ตัวเป้เองอาจมีสารเคลือบกันน้ำบ้างแต่เป้ทุกใบ ไม่กันน้ำ ฉะนั้นเอาถุงดำหรือถุงพลาสติกใบใหญ่ๆซ้อนลงไปอีกชั้นก่อนใส่เสื้อผ้าลงไป หรือใช้ถุงสูญญากาศก็จะช่วยลดปริมาณของเสื้อป้าเราลงได้มากและกันน้ำด้วย
Rain cover แม้ชื่อมันบอกว่าใช้กันฝนแต่มันไม่กันฝนซักเท่าไหร่ ถ้าฝนตกของข้างในเป้เราก็เปียกอยู่ดีอย่าไปหวังอะไรมากมองมันเป็นอุปกรณ์กันเปื้อนของกระเป๋าที่ทำให้เราไม่ต้องซักกระเป๋ายากๆ บ่อยๆ ดีกว่า
กระเป๋าใส่ขวดน้ำด้านนอกกระเป๋า ควรสามารถเอื้อมมือไปหยิบขวดน้ำออกมา และใส่ขวดน้ำกลับเข้าไปได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องเอากระเป๋าออกจากไหล่ ไม่เช่นนั้นแล้วจะลำบากมากเวลาเดินป่าจริงๆ อันนี้ต้องไปลองเองเท่านั้นถึงจะรู้ว่าเราเหมาะกับกระเป๋าใบนั้นหรือเปล่า
กระเป๋าที่ติดกับหลังมากเกินไปจะทำให้การระบายเหงื่อ ระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเมื่อแบกนานๆจะอึดอัดและมีปัญหากับผิวหนังได้ แนะนำให้ระหว่างกระเป๋าและหลังเมื่อแบกเป้อยู่ควรมีช่องว่างระดับเอามือสอดเข้าไปได้
สุดท้ายการปรับกระเป๋าควรปรับ load lifter ให้อยู่สูงกว่าใหล่เพื่อพยุงน้ำหนักตัวเป้ สายปรับระดับสะพายให้แน่นเข้ากับตัว (แต่อย่าแน่นมาก) และ Hip belt เข้าแน่นตรงกระดูกเชิงกรานพอดี
ทั้งหมดนี้เพื่อวัตถุประสงค์ 2 อย่างคือเป้ไม่แกว่งไปมาขณะที่เราเดิน กับทำให้น้ำหนักกระเป๋าเทลงไปที่สะโพกเพื่อใช้ขาในการรับน้ำหนักไม่ใช่ไหล่
แก้ไขข้อมูล *** load lifter ต้องอยู่สูงกว่าไหล่นะครับ ตอนอัดพูดผิดตลอด