ตอนนี้เราทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับชื่อ “คุโรบูตะ” จากการที่ CP ได้นำเอาเนื้อหมูชนิดนี้มาขายและประหน่ำโฆษณาอยู่ในทีวีพักหนึ่ง ซึ่งเท่าที่ลองกินมันก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรเท่าไหร่ จุดเด่นน่าจะเป็นเรื่องของไขมันที่แทรกอยู่ในเนื้อมากกว่าหมูปกติที่ CP ขายนิดหน่อย (ย้ำว่านิดหน่อย จริงๆ) จนกระทั่งไม่ได้รู้สึกว่าถ้าจะกินหมูมันต้องเป็น คุโรบูตะเท่านั้น จะเป็นหมูอะไรก็ไม่ได้ต่างกันมาก…
ทริปที่เพิ่งกลับมาช่วงสงกรานต์ เราวนเวียนอยู่แถบๆเมืองคาโกชิมะ (Kagoshima) ค่อนข้างบ่อยแล้วไม่ว่าจะเดินไปที่ไหนก็เห็นโฆษณาถึงหมู “คุโรบูตะ” ไปทั่วจนรู้สึกได้ว่า มันต้องมีอะไรดีแน่ๆ สุดท้ายเลยไปลองทงคัทซึหมูคุโรบูตะ

กลายเป็นว่า Kagoshima Black pork กลายเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในทริปไปซะอย่างนั้น
“เนื้อหมูหั่นหนาทำให้ความร้อนไปทำให้เนื้อข้างในยังไม่สุกจนเกินไป ไขมันที่แทรกอยู่ในตัวเนื้อหมูทำให้รสสัมผัสของหมูนุ่มมาก ไขมันก้อนของเนื้อสันนอกใน ให้รสที่เข้มข้นกำลังดีและไม่แข็งเลย ทุกส่วนไม่ว่าจะเป็นเนื้อหรือไขมันล้วนแต่สามารถใช้ตะเกียบไม้ธรรมดาๆหั่นขาดได้ ข้างนอกทอดมากรอบบวกกับที่ชิ้นหมูหนาทำให้สัมผัสเวลาเคี้ยว สู้กับปากกำลังพอดีรสชาติตัดกับน้ำจิ้มทงคัทซึที่ทำจากเต้าเจี๊ยวที่ไม่คุ้นเคยแต่ได้ความเข้มข้นอย่างประหลาด น้ำสลัดเป็นน้ำส้มที่เป็นส้มจริงๆไม่ใช่น้ำส้มสายชูตัดกับรสซีอิ้วเล็กๆเมื่อกินกับกะหล่ำสามารถตัดและส่งรสชาติของหมูให้ยิ่งดีขึ้นไปอีก แค่กัดเข้าไปคำแรกก็ทำให้ยิ้มออกมาได้แบบไม่รู้ตัว”
เลยทำให้ต้องไปค้นหาว่าไอ้ Kagoshima black pork นี่มันคืออะไรกันแน่?
เริ่มต้นจากชื่อก่อนเลยแล้วกัน
“คุโร” แปลว่าดำ “บูตะ” แปลว่าหมู ฉะนั้น Kagoshima Black Pork คือ คุโรบุตะแน่ๆแต่ทำไมรสชาติมันช่างต่างกับที่เคยกินเสียเหลือเกิน จึงได้รู้ว่าจริงๆ คุโรบูตะ นั้นไม่ใช่หมูที่มาจากญี่ปุ่นหรอกแต่เป็นหมูพันธุ์ “เบริกเชียร์” จากประเทศอังกฤษ
ว่ากันว่าที่มาของหมูคุโรบูตะนั้นย้อนกลับไปเมื่อ 400 ปีที่แล้ว เกิดจากการนำเอาหมูพันธุ์เบริกเชียร์เข้ามาทางเกาะริวกิว ซึ่งคือโอกินาว่าในปัจจุบันแต่มาแพร่หลายมากในแผ่นดินใหญ่ซึ่งแน่นอนว่า Kagoshima เป็นแผ่นดินแรกของเกาะใหญ่ที่หมูเข้ามาถึง ที่คนญี่ปุ่นเรียกมันว่าหมูดำเพราะหน้าตาของมันแตกต่างจากหมูปกติที่คนรู้จักกันซึ่งส่วนใหญ่เป็นสีออกชมพู หมูพันธุ์เบิรกเชียร์มีขนสีดำตัวใหญ่มีแต้มสีขาวทั้งหมด 6 จุดคือ ขา4ข้าง จมูกและหาง ว่ากันว่าไขมันของหมูพันธุ์นี้มีจุดหลอมเหลวสูงกว่าปกติซึ่งทำให้กลิ่นของไขมันเวลาสุกแตกต่างไปจากไขมันหมูทั่วไป
ส่วนที่ผมคิดว่าทำให้คุโรบูตะที่คาโกชิมะนี้โดดเด่นไปกว่าที่อื่นเพราะในแถบภูมิภาคคิวชูนี้ ขึ้นชื่อเรื่องของมันม่วงและมันเทศ (เข้าใจว่าอาจจะเพราะดินเถ้าภูเขาไฟที่ทำให้มันเทศแถวนี้อร่อยมาก คอนเฟิร์มว่ามันอร่อยจริงๆ เพราะอาหารเช้าของโรงแรมแถวนี้เกือบทุกโรงแรมเสิร์ฟมันเทศหมดซึ่งหวานเหมือนเอาไปราดน้ำเชื่อมมาทั้งๆที่เป็นแค่มันต้มธรรมดาๆ) และเค้าเอามันเทศพวกนี้ให้เป็นอาหารกับหมูคุโรบูตะทำให้เนื้อของมันมีไขมันแทรกอยู่ทั่วไป
นอกจากนี้เท่าที่หาข้อมูลมาเข้าใจว่ามีความพยายามในการพัฒนาสายพันธุ์อย่างต่อเนื่องด้วยทำให้หมูคุโรบูตะของเมืองนี้อร่อยและโด่งดังเทียบเท่าเนื้อโกเบเลยทีเดียว
และนั่นแหละคือการเดินทางของหมูพันธุ์เบิรกเชียร์จากอังกฤษที่เดินทางข้ามน้ำมาไกลในยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศแต่ก็มาเติบโตด้วยมันเทศจากเถ้าภูเขาไฟในเมืองคาโกชิมะสู่การพัฒนาสายพันธุ์และเปลี่ยนชื่อ สู่ประเทศไทยผ่านบริษัทปศุสัตว์ขนาดใหญ่ผ่านเข้าสู่ท้องของเรากลายมาเป็นตัวอักษรและความทรงจำในบทความอันนี้นั่นเอง