เวลาไปซื้อของอะไรซักอย่างมันคงดีใช่ไหมที่มีตัวเลือกให้เราเยอะๆ
การตลาดของเครื่องสำอางค์และแฟชั่นผู้หญิงพิสูจน์มาแล้วว่า
“ยิ่งมี option สีให้เลือกมากเท่าไหร่ผู้หญิงยิ่งมีโอกาสซื้อสินค้าสิ่งนั้นมายิ่งขึ้น ยิ่งถ้าสามารถเอาสีมีเรียงเป็นตับได้จะยิ่งดึงดูดนักช็อปปิ้งได้มากขึ้น”
ฟังดูแล้วการมีตัวเลือกน่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ไม่น่าจะมีพิษภัยอะไรได้
แล้วถ้าตัวเลือกนั้นมีไม่จำกัดละ?
รู้จักคำว่า Analysis Paralysis ไหม?
มา ผมจะเล่านิทานให้ฟัง….
วันหนึ่ง หมาจิ้งจอกคุยกับแมวถึงวิธีในการเอาตัวรอด
จิ้งจอก : ข้ามีมีธีการหนีเอาตัวรอดเป็นร้อยๆวิธี ยังไงก็รอด
แมว : ข้ามีวิธีเดียวนะแต่มันมักได้ผลเสมอ
หลังจากจบคำทั้งคู่ก็ได้ยินเสียงหมาล่าเนื้อของนายพรานวิ่งตรงใกล้เข้ามา เมื่อสัมผัสได้ถึงการถูกล่า เจ้าแมวน้อยรีบวิ่งกระโดดขึ้นต้นไม้และหลบทันที!
ในขณะที่เจ้าจิ้งจอกกำลังนึกถึงวิธีเอาตัวรอดนับร้อยวิธีอยู่ในหัวและกำลังชั่งใจว่าอะไรคือวิธีที่ดีที่สุด…
แน่นอนว่าจุดจบของเรื่องนี้หมาจิ้งจอกถูกฝูงหมาล่าเนื้อของนายพรานตะครุบเอาไว้ได้ขณะที่แมวน้อยเอาตัวรอดด้วยวิธีการเดิมๆไปได้เหมือนเคย
นิทานอีสปเรื่องนี้ถูกเล่ากันมาอย่างยาวนานและบ่อยครั้งมันถูกเอามาอธิบายนิยามของ “Analysis Paralysis”
“Analysis Paralysis” คืออาการอัมพาตจากการที่มีตัวเลือกในการวิเคราะห์มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย ทำให้เสียโอกาส เสียเวลา และอย่างในนิทานเรื่องนี้คือเสียชีวิต
ในยุคสมัยที่ผมเติบโตมาโดยเฉพาะผมที่เติบโตมาในต่างจังหวัด
การมีตัวเลือกคือของขวัญคือรางวัล เพราะเราไม่ค่อยมีตัวเลือกมากนัก ความบันเทิงเรามีแค่ทีวีไม่กี่ช่อง หนังสือพิมพ์สองสามหัว น้ำหวานในตู้แช่ก็มีให้เลือกแค่โค็กกับแป็บซี่ เราทำได้แค่ก้มหน้ายอมรับเลือกเอาซักอย่าง ซึ่งเอาจริงๆมันก็คล้ายๆกันหมด
แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปเมื่อระบบขนส่งดีขึ้น เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตกระจายเอาชั้นวางสิ้นค้าไปอยู่บนมือถือของเรา ข้อจำกัดของขนาดชั้นวางสินค้าได้หมดไปความหลากหลายของสินค้าจะบริการจึงบรรจงปรับแต่งไปในแนวทางที่เป็นตลาดเฉพาะ (niche market) มากขึ้น
ตอนนี้เราเริ่มมีตัวเลือกที่่ไม่จำกัดแล้ว
และผลที่ตามมาคือเราเริ่มเลือกไม่ได้แล้วว่าอันไหนคือตัวเลือกที่เหมาะกับเรา!
หลายครั้งที่เราลังเลใจว่าตัวเลือกที่เรากำลังเลือกนี่มันเหมาะกับเราจริงไหม, มันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดหรือยัง จนลงท้ายด้วยการเอาเวลาอันมีค่าของเราไปใช้กับการตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากตัวเลือกอันมากมาย
ซ้ำร้ายบางครั้งตัวเลือกเหล่านี้อนุญาตให้เราเปลี่ยนใจไปเลือกสิ่งใหม่ได้เสมอถ้าต้องการ เราจึงติดอยู่กัยวังวนของการต้องเลือกอย่างไม่จบสิ้น และบางครั้งมันก็ตามไปหลอกหลอนเราถึงในฝัน!
“การมีตัวเลือกอย่างไม่สิ้นสุดจึงกลายเป็นการไม่มีตัวเลือกอะไรเลย”
วอลแตร์ นักปราชญ์และนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศษเคยกล่าวไว้ว่า “Perfect is the enemy of good”
นักกีฬาอาชีพทั้งหลายล้วนแต่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อให้ระบบตอบโต้อัตโนมัติทำงาน การคิดแม้เพียงวินาทีเดียวอาจหมายถึงความพ่ายแพ้ในเกมส์กีฬา ไม่จำเป็นที่การเคลื่อนไหวทุกครั้งต้องส่งผลให้เกมส์เปลี่ยนแปลง แต่การไม่เคลื่อนไหวเพียงครั้งเดียวต่างหากที่ทำให้เกมส์เปลี่ยนแปลง
ทุกวันนี้ก็เช่นกัน ท่ามกลางกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงไม่มีใครหรือธุรกิจใดสามารถรักษาธรรมเนียมปฏิบัติเดิมได้อีกต่อไป การวางแผนธุกิจล่วงหน้า 3 – 5 ปีกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และทุกคนรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เราหยุดเรากำลังถอยหลัง ด้วยเหตุนี้การมีทางเลือกที่ไม่จำกัดอาจกลายเป็นภาระกับการเลือก “ตัวเลือกที่ดีที่สุด” และฉุดให้เราอยู่กับที่ ทางเลือกที่ดีที่สุดจึงกลายเป็นการเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุด ณ เวลาและสถานการณ์นั้นและยอมรับและเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมันล้มเหลว
จิ้งจอกผู้มีวิธีเอาตัวรอดร้อยวิธีอาจจะแค่ต้องเลือกสักทางนึงที่มันถนัดเท่านั้นเอง
“เพราะการมีตัวเลือกที่ไม่สิ้นสุดหมายถึงการไม่มีตัวเลือกเลย”