“เมื่อไหร่ที่ทุกคนหยุดพูด สงครามจะเกิด…”
ไม่แน่ใจในที่มาของคำกล่าวข้างต้นซักเท่าใดนัก แต่ผมให้น้ำหนักกับมันอย่างเต็มที่ โดยสังเกตุจากตัวเองและคนรอบข้างเป็นบรรทัดฐานว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเหนื่อยเอียนเกินกว่าจะพูดนั่นแสดงว่าเรากำลังจะเริ่มทำสงครามย่อยๆขึ้นมาแล้ว…
ในฐานะที่ทำงานเป็นนักสื่อสารคนหนึ่ง (ไม่ว่าอาชีพวิทยากรหรือที่ปรึกษาล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสื่อสารทั้งสิ้น) ที่พยายามมองหาหนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการสื่อสารกับคนอื่นมาตลอดชีวิต มองว่าคำว่าการสื่อ “สาร” ในภาษาไทยนั้นชักชวนให้เข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก เพราะถ้ามองจากรูปคำจะเห็นว่าสื่อสารคือการส่ง “สาระ” ไปยังปลายทางเท่านั้นไม่ได้ให้น้ำหนักหรือใจความไปกับการรับฟัง “สาร” เท่าไหร่นัก
ในความเป็นจริงการสื่อสารนั้นเป็นกริยาที่ต้องทำทั้งสองทางคือต้องทั้งส่ง และ รับสาร ซึ่งอันที่จริงหากจะให้การสื่อสารได้ผล การมุ่งเน้นไปที่การรับสารอาจทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยซ้ำ หรืออาจบอกได้ว่าแท้จริงแล้วหัวใจของการสื่อสาร คือการรับฟังต่างหาก
แต่เราถูกหลอกด้วยคำว่าสื่อสาร เราจึงมุ่งเน้นไปที่การส่งสารไปให้ถึงปลายทางเท่านั้น แม้กระทั่งการรับฟังยังกลายเป็นการรับฟังเพื่อตอบโต้ มากกว่าการรับฟังเพื่อให้ได้สารมาเลยทำให้สิ่งที่ได้มาตกหล่นไประหว่างทางอย่างน่าเสียดาย เราเลยพลาดโอกาสดีๆที่จะได้ติดต่อสื่อสารกัน
“ฉะนั้นอยากเชิญชวนให้มาฟังคนรอบข้างกันเยอะๆครับ ฟังเพื่อฟัง ไม่ต้องไปพยายามตอบโต้หรือให้เหตุผลอะไร เอาตัวไปอยู่ในจุดที่เค้าเป็นอยู่แล้วฟังก็พอ
เราอาจจะได้ยินอะไรระหว่างคำ ที่มีความหมายมากกว่าที่เคยฟังมาก็ได้ “
ในฝั่งที่ต้องการส่งสารนั้นปกติแล้วการส่งสารออกไปจะมี 2 เป้าหมายคือ
- ส่งออกไปให้กระทบหัว (ให้ข้อมูล)
- ส่งออกไปให้กระทบใจ (ให้อารมณ์)
ผู้สื่อสารที่เก่งจะสามารถเลือกเป้าหมายที่กระทบได้อย่างแม่นยำตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ว่าจะให้กระทบหัว หรือกระทบใจก่อน การขาย, การโน้มน้าว, เน้นการปลุกเร้าอารมณ์เป็นหลักและอารมณ์โดยทั่วไปมีกำลังมากกว่าเหตุผลมากนัก แล้วค่อยส่งข้อมูล bias ไปให้ก็ยังไม่สาย….
ถ้าการสื่อสารนั้นเป็นการให้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำการให้ข้อมูลนำไปก่อนก็ดูจะเป็นประโยชน์มากกว่าการเน้นไปที่อารมณ์แต่ยังไงซะ ก็ต้องมีบิวด์อารมณ์ปิดท้ายด้วย
ปัญหาใหญ่ที่เรามักเจอกันในการสื่อสารคือเรื่องของ Noise and Filter
Filter หรือตัวกรอง คือคติ/อคติที่ติดอยู่กับตัวเรามาก่อนหน้าจะฟัง อาจจะเป็นอคติต่อตัวบุคคล อคติต่อข้อมูล หรือต่อสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ “สาร” ที่เราได้รับถูกบิดเบือนย้อมสีไปด้วย filter เหล่านั้น และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกคนจะมี filter เป็นของตัวเองข้มข้นมากน้อยขึ้นอยู่กับบุคคล เพียงแต่เราต้องรู้ตัวว่าเราได้สวมแว่นตาแห่งอคติอะไรเอาไว้ เหมือนตอนที่เราใส่แว่นตาดำเอาไว้ทั้งวันจนคิดว่าวันนี้ฟ้าหม่นฝนกำลังจะตก เพียงแค่เรารู้ตัวว่าเราสวมแว่นเอาไว้เราก็จะสำเนียกได้ว่าฟ้ามันไม่ได้หม่นอย่างที่เรามองแน่ๆ
Noise คือตัวกวน คือข้อมูลหรืออารมณ์มากมายที่ถูกบรรจุแต่งแต้มมาในสารที่เรารับจนกระทั่งทำให้สารนั้นพล่าเลือน จนกลายเป็นตีความผิดกันไป หรือบางครั้ง noise มาจากการถ่ายทอดสารเป็นทอดๆ หลายลำดับชั้น จนวัตถุประสงค์ของผู้ส่งสารนั้นถูกบิดเบือนไปด้วย filter และ noise ในลำดับชั้นของการสื่อสาร ประเด็นเรื่องของ noise นั้นจะว่าง่ายก็ง่าย แต่ในสังคมที่มีลำดับชั้นมากมายในบ้านเรานั้นอาจกลายเป็นเรื่องยากเพราะทางแก้ง่ายๆคือ “อย่าคิดไปเอง” ถ้าสารนั้นไม่ชัดที่ทำได้ง่ายๆคือสอบถามเพิ่มเติมอย่างตรงไปตรงมา
“เราอาจไม่ต้องหยุดพูดเพื่อให้สงครามเกิดแต่ถ้าการพูดที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้ส่งสารต้องการผนวกกับตัวกรองเข้มๆก็อาจทำให้เราเจอกับสงครามได้เหมือนกัน”