” สีผิว/ศาสนา/เพศ/เชื้อชาติ/การกิน/ไลฟ์สไตล์
พฤติกรรม/ความรัก/รสนิยม/ความเชื่อ “
ทั้งหมดที่ว่ามาล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลทั้งสิ้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเข้าไปตัดสินคนอื่นจากเรื่องส่วนตัวเหล่านี้เราอาจเรียกมันได้ว่าเป็น “การเหยียด”
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า “การเหยียด” นั้นเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ
เรารังเกียจโดนัล ทรัมพ์ เพราะทรัมพ์ เหยียดเพศ เชื้อชาติ และศาสนา
เพราะค่านิยมสมัยใหม่นั้น ทำให้เราเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วคนเราล้วนเท่ากัน
มันเลยชวนให้เกิดคำถามว่าความเหยียดเกิดขึ้นได้ยังไง ?
แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ที่อ่านข้อความนี้ได้เป็นคนไทย
และแน่นอนอีกว่าเราส่วนใหญ่น่าจะมองว่าการกินหมาเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
แต่ใน อี้ว์หลิน ประเทศจีนยังคงมีเทศกาลกินหมาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
หรือในเวียดนาม เกาหลีใต้ และแคนาดา ยังคงมีการกินหมาพบเห็นได้โดยทั่วไป
หรือคนไทยหลายๆคนยังมีทัศนคติที่ไม่ดีกับคนดำ แขก หรือพม่า
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรรศนะคติแบบ “เหมารวม”
เช่น แขกเห็นแก่ตัว คนดำน่ากลัว พม่าดุร้าย
ความคิดเหมารวมพวกนี้ โดยพื้นฐานแล้วเกิดจากการที่เราอยู่ห่างไกลจากสิ่งนั้นๆมาก
แน่นอนว่าเราไม่ได้พบเจอคนกินหมา หรือคนดำทุกวัน
บางครั้งเราอาจไม่เคยเจอคนเหล่านั้นตลอดชีวิตของเราเลยก็เป็นได้
แต่เราเลือกที่จะตัดสินพวกเขาแบบนั้นเพียงเพราะ สมองต้องการคำตอบที่ง่าย
และการฟังเรื่องเล่าของคนอื่น มันสนุกสนานและกระตุกใจดีการเชื่อไปแบบนั้นน่าจะออกรสได้ดีกว่า
วิธีหนึ่งที่ส่วนตัวใช้ในการทำลายมายาคติเหมารวมเหล่านี้ได้
คือ การได้ออกไปเจอคนที่เราตัดสินเค้า
คบหาพูดคุย ทำความเข้าใจ โดยไม่ต้องไปรีบตัดสินอะไรก่อน
ซึ่งการเข้าไปสัมผัสโดยตรงนี้น่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราเข้าใจว่าโลกนั้นแตกต่างอย่างถ่องแท้
และความแตกต่างทั้งหลายนั้นไม่ได้ทำให้คนเรา น่ารังเกียจ แต่อย่างใด
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือเราต้องทลายกำแพงของความกลัวไปให้ได้ก่อน
เพื่อไปพบเจอสิ่งที่แตกต่าง เพื่อให้เราเรียนรู้และเข้าใจ
เพราะแม้แต่ความเหยียดเองก็อาจไม่คู่ควรถูก “เหยียด”
เพราะทุกคนล้วนมี “ความเหยียด” อยู่ในตัว