เมื่อเราเอ่ยถึงสิ่งที่มีค่า โดยทั่วไปเรามักจะหมายถึงการมีอยู่ของอะไรบางอย่าง
ไม่ว่าจะเป็น เงินทอง/บ้าน/งาน/ชื่อเสียง/ความสัมพันธ์
แน่นอน…เรามองเห็นสิ่งที่เราสามารถจับต้องได้ และมักมองข้าม “ความว่าง”
บางคนอาจเลยเถิดไปถึงขั้นมองว่า “ความว่าง” นั้นเป็นพิษภัย
เป็นสิ่งไร้ประโยชน์ เป็นส่วนเกิน เป็นสิ่งที่ขัดขวางความมีประสิทธิภาพ
จนกระทั่งมีแนวคิดที่ทำให้เรามี “ความว่าง” น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
แล้วเรียกสิ่งนั้นว่าการเพิ่มประสิทธิภาพ (Optimization)
เวลาเราอ้างถึงความว่างเรามักจะเลือกอ้างในสองบริบท คือ
ความว่างของพื้นที่ (space) และ ความว่างของเวลา(time)
และไม่ว่าจะอ้างถึงความว่างในบริบทใด
“ความว่าง” ก็ล้วนเป็นส่วนเติมเต็มให้ฟังก์ชันการใช้งานนั้นสมบูรณ์ เปิดโอกาสในเกิดการพัฒนา
อาคารที่ไร้ที่ว่างก็เป็นได้แค่ซากสิ่งก่อสร้าง ไม่สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ใดได้
คนที่ไม่เคยมีเวลาว่างก็ไม่มีวันที่จะมีโอกาสพัฒนาตัวเองได้เหมือนกัน
….ธรรมชาติของ “ความว่าง” นั้นจึงแปลก
เพราะเมื่อเราต้องการอะไรซักอย่าง กลับกลายเป็นว่าการปล่อยให้ว่างนั้นกลายเป็นคำตอบ
รังผึ้งรับน้ำหนักได้มากกว่าที่มองเห็นเพราะภายในเป็นที่ว่าง
เมื่อมีปัญหาประเดประดังเข้ามามากมายทางแก้ที่ดีคือทำตัวให้ว่าง
เมื่อเราต้องการพัฒนาตัวเองหนทางที่ง่ายและได้ผลคือการพักผ่อน
คล้ายๆคติของเซน!
ดังนั้นการว่างนั้นอาจจะไม่ใช่ความผิดบาป เพราะในขณะที่เรากำลังสร้างความว่างขึ้นมานั้นเรากำลังสร้างโอกาสบางอย่างขึ้นมาในเวลาเดียวกัน